" นครอุบลยุคใหม่ ก้าวไปด้วยกัน ก้าวไปได้ไกล "

thzh-CNenja

นโยบายการบริหารงานของนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี

ในการบริหารงานเทศบาลนครอุบลราชธานี ผู้บริหารเทศบาลนครอุบลราชธานี ได้กำหนดนโยบายไว้ ดังนี้

  1. นโยบายด้านการบริหาร

​​                   1.1 มุ่งให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนในการร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทุกคน ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า
“หากทุกส่วนให้ความร่วมมือ ภารกิจใดๆ ย่อมสำเร็จตามเป้าหมาย” หรือยึดหลักการ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และ ร่วมตรวจสอบ

​​                   1.2 ให้ความสำคัญกับบุคลากรของเทศบาลนครอุบลราชธานีทุกระดับ ถือว่าเขาเหล่านั้นเป็นกลไกอันสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือการนำนโยบายไปปฏิบัติ ให้บังเกิดผลดีต่อพี่น้องประชาชน
มุ่งส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าในอาชีพของพนักงานเทศบาลตามความเหมาะสม

​​                   1.3 ใช้หลักการ “บริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” เช่น ยึดหลักและแนวทางในการบริหารภายใต้หลัก “ธรรมาภิบาล”

​​                   1.4 ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มุ่งขจัดปัญหาทุจริต คอรัปชั่นในทุกระดับ เน้นระบบการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

​​                   1.5 ให้ความสำคัญกับชุมชนในเขตเทศบาล เปิดโอกาสและส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาทผลักดันแนวคิดด้านการพัฒนา ภายใต้หลักการ 1 ชุมชน 1 นโยบาย เพราะชุมชนเท่านั้นที่ทราบและเข้าใจปัญหาของชุมชน

​​                   1.6 ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งพื้นฐานสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งอารยธรรมเจริญมาตั้งแต่อดีต ดังนั้นต้องรักษาและธำรงไว้ให้ เจริญงอกงามต่อไป

  1. นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน

​​                   2.1 ระบบสาธารณูปโภคทุก ๆ ด้าน ต้องได้รับการพัฒนา ไฟฟ้าส่องสว่างทุกตรอก ทุกซอย ทุกถนน ระบบประปาต้องมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการอย่างทั่วถึง
โดยจะสานความร่วมมือกับหน่วยงานดังกล่าว ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

​​                   2.2 พัฒนาและแก้ไขระบบระบายน้ำ ระบบคลองส่งน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำให้ใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาน้ำท่วมขังให้หมดไป

​​                   2.3 พัฒนาถนน ทางสัญจรทุกตรอก ซอย ให้เดินทางโดยสะดวก ปลอดภัย ถนนทุกถนน ซอยทุกซอย ต้องได้รับการแก้ไขโดยฉับพลัน ขจัดหลุมบ่อและสิ่งกีดขวางถนน ลดอุบัติเหตุทางถนน

​​                   2.4 เพิ่มเส้นทางจราจรทางลัดให้ประชาชนได้รับความสะดวก ลดการแออัดของการจราจร  โดยเฉพาะจะพัฒนาถนนเลียบห้วยวังนองและถนนเลียบแม่น้ำมูล ถนนเลียบบุ่งกาแซว ให้สำเร็จโดยเร็ว

​​                   2.5 จัดการระบบการจราจรให้มีประสิทธิภาพ ลดเวลาการเดินทางของประชาชนสู่เป้าหมายให้ลดลง 25% ทั้งนี้จะประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการอย่างรวดเร็ว

  1. นโยบายด้านการศึกษาและการพัฒนาสังคม

​​                   3.1 ส่งเสริมจัดการศึกษา มุ่งให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาที่ดีและทั่วถึง ให้ความสำคัญกับสื่อการสอนและเทคโนโลยีด้านการศึกษา มุ่งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต

​​                   3.2 มุ่งพัฒนาสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลนครอุบลราชธานี ให้เป็นสถานศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในเขตเทศบาล พัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาทุกระดับ
เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีองค์ความรู้ที่จะมาถ่ายทอดแก่นักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ

​​                   3.3 ให้ความสำคัญกับบทบาทสตรี ให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทศบาล

​​                   3.4 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ให้ได้รับการบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียม  เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ติดเชื้อโรคอันตราย เป็นต้น

​​                   3.5 ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา อาชีพ ให้กับคนในชุมชน ให้มีรายได้เพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

​​                   3.6 มุ่งส่งเสริมงานประเพณีของท้องถิ่น ให้มีความยิ่งใหญ่ ตอบสนองต่อนักท่องเที่ยว ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

​​                   3.7 ​​ป้องกันและปราบปราม สร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชนในการหลีกเลี่ยง ขจัดปัญหายาเสพติดทุกรูปแบบและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ
เป็นพลังที่เข้มแข็งแก่ชุมชนและประเทศชาติต่อไป

  1. นโยบายด้านการสาธารณสุขและกีฬา

​​                   4.1 ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระงับและป้องกันโรคระบาดรุนแรง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และโรคอื่น ๆ มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับภูมิคุ้มกันอย่างทั่วถึงโดยเร็ว

​​                   4.2 พัฒนาการบริการ โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศบาลประจำศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาล เมื่อมารับบริการตลอดเวลา

​​                   4.3 พัฒนาและส่งเสริมขีดความสามารถของศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาลที่มีอยู่แล้ว  ให้บริการในด้านการส่งเสริมสุขภาพอนามัย ด้านการป้องกันและรักษาอนามัยส่วนบุคคล อนามัยชุมชนให้มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและครอบคลุม

​​                   4.4 กำกับดูแลส่งเสริมให้มีเด็กแรกเกิด สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วย ภายใต้การดูแลของศูนย์บริการ  ได้รับการบริการทางสาธารณสุขอย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง

​​                   4.5 พัฒนาตลาดสดและแผงลอยให้สะอาด ปลอดภัย ปลอดมลพิษ ภายใต้นโยบาย “ตลาดสดน่าซื้อ” ของรัฐบาล มุ่งให้ผู้มาใช้บริการได้รับความสะดวกสบาย รวมทั้งผู้ขาย ผู้ประกอบการ ให้ได้รับการอบรม  สำหรับการเป็นผู้ประกอบการที่ดี เพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในเขตเทศบาล และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักหรือท่องเที่ยวในเขตเทศบาล มุ่งส่งเสริมปรับปรุง “ตลาดใหญ่” ให้เป็นแหล่งค้าขายอย่างหลากหลาย

​​                   4.6 ส่งเสริมการกีฬาทุกประเภท ให้มีศักยภาพทัดเทียมกับจังหวัดอื่น มุ่งการเป็นตัวแทนระดับชาติ และส่งเสริมให้มี “ลานกีฬา” ทุกชุมชน ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชน เยาวชน ได้เล่นกีฬา เป็นการพักผ่อนหย่อนใจ
และเป็นผลให้เขาเหล่านั้นห่างไกลจากยาเสพติดและการมั่วสุมทุกประเภท เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

  1. นโยบายด้านการรักษาสภาพแวดล้อมและการปรับปรุงเมือง

​​                   5.1 ส่งเสริมและกำกับดูแลการรักษาความสะอาดของบ้านเมือง ให้มีความสะอาดทุกเวลา จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและกวดขันการเก็บกวาดขยะมูลฝอยตามตรอกซอยอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมีระบบการจัดการด้านการทำลายขยะ มุ่งเน้นส่งเสริมการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร มีระบบการส่งเสริมการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ หรือการแปรสภาพขยะเป็นปุ๋ย สำหรับการนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป

​​                   5.2 ส่งเสริมการดำเนินการจัดการเรื่องระบบบำบัดน้ำเสีย ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่  โดยเน้นเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยกันรับผิดชอบในการบำบัด

​​                   5.3 ปรับปรุงสภาพแวดล้อม สภาพภูมิทัศน์ของเขตเทศบาลให้สวยงาม ให้เกิดความตื่นตาตื่นใจแก่ประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยว ส่งเสริมการจัดสวนหย่อมตามเกาะกลางถนนหรือหัวมุมถนนให้มีความสวยงาม
และสอดคล้องกับระบบการจราจร พัฒนาโต้รุ่ง ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็น Street Food

​​                   5.4 ฟื้นฟูสภาพเมืองเก่าให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง โดยมุ่งพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม  และสถาปัตยกรรมร่วมสมัย (Art City)

​​                   5.5 พัฒนาเทศบาลนครอุบลราชธานีให้เป็นเมืองแห่งคาเฟ่ (Café City) อันจะสอดคล้องรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว