Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

ถาม-ตอบเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเคเบิ้ลใต้ดิน พื้นที่เทศบาลนครอุบลราชธานี

 

ถาม ที่มาโครงการ?

ตอบ เทศบาลนครอุบลราชธานีและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี มีแผนจัดทำโครงการก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน พื้นที่เทศบาลนครอุบลราชธานีในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 - 2564 โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการนำระบบสายไฟฟ้าและสายส่งการสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อรองรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว รวมถึงพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยระดับสูงต่อประชาชน และที่สำคัญเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองให้มีความสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความปลอดภัยในการสัญจรของประชาชน อีกทั้งรองรับงานประเพณีแห่เทียนพรรษาซึ่งถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติของจังหวัด

ถาม มีพื้นที่ดำเนินการบริเวณใดบ้าง?

ตอบ ก่อนอื่นต้องขอเรียนว่า การจัดทำโครงการก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน ต้องการดำเนินการในพื้นที่เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าว ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเลือกดำเนินการตามความพร้อมของงบประมาณ ซึ่งพื้นที่ที่เทศบาลนครอุบลราชธานีเห็นว่าเหมาะสม ที่จะเป็นพื้นที่นำร่อง คือ ถนนสายวัฒนธรรม หรือพื้นที่จัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี โดยประกอบด้วย 2 เส้นทาง ได้แก่

1.ถนนอุปราช ช่วงวงเวียนน้ำพุ – ถนนชยางกูร (ช่วงแยกตัดถนนสุริยาตร์) หรือแยกปั๊มเอซโซ่ ระยะทาง 1.4 กิโลเมตร
2.บริเวณรอบทุ่งศรีเมือง ช่วงถนนเขื่อนธานี ถนนศรีณรงค์ ถึงถนนพโลรังฤทธิ์ ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร
รวมระยะทาง 3.1 กิโลเมตร

ถาม งบประมาณดำเนินโครงการนี้ มาจากหน่วยงานใดบ้าง?

ตอบ โครงการก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน พื้นที่เทศบาลนครอุบลราชธานี มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย
 1. เทศบาลนครอุบลราชธานี
 2. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี
 3. บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน
สำหรับการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน งบประมาณรวม 264,696,931.44 บาท มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ
 1. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี รับผิดชอบงานระบบไฟฟ้า งบประมาณ 146,566,793.83 บาท หรือคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณในภาพรวม
 2. เทศบาลนครอุบลราชธานี รับผิดชอบงานโยธา เช่น งานบ่อพัก งานท่อร้อยสาย งานขุดดิน งานผิวจราจร เป็นต้น งบประมาณ 118,130,171.61 บาท หรือคิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณในภาพรวม
   สำหรับการนำสายส่งการสื่อสาร เช่น สายโทรศัพท์ สายอินเทอร์เน็ต และสายอื่นๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน โดยมีการตั้งงบประมาณดำเนินการ ประมาณ 50 ล้านบาท

****ถ้ารวมงบประมาณทั้ง 3 หน่วยงาน งบประมาณรวม 314,696,931.44 บาท

ถาม มีมาตรการป้องกันผลกระทบจากการก่อสร้างอย่างไร?

ตอบ ขอเรียนให้ทราบว่า ผลกระทบที่เกิดจากโครงการฯ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

 1. ผลกระทบระหว่างก่อสร้างบ่อและท่อร้อยสาย ได้แก่

 - การจราจร

 - ฝุ่นละออง ดิน โคลน

 - เสียง (เครื่องจักรทำงาน, ขุดเจาะ)

 - การค้าขายในพื้นที่ก่อสร้าง

2. การดับไฟเพื่อดำเนินการก่อสร้าง และตอนเปลี่ยนระบบไฟฟ้าเป็นระบบใต้ดิน

     **ขอเรียนให้ทราบว่า จะมีการจัดทำแผนงานการก่อสร้างรวมถึงการกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบกับประชาชนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น 

         - ด้านการจราจร จะมีการจัดทำแผนด้านการจราจรกับ สภ.เมืองอุบลราชธานี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในบริเวณพื้นที่การก่อสร้าง

         - ปัญหาฝุ่นละออง ดิน โคลน เสียงจากเครื่องจักรขุดเจาะที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชน ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะมีการจัดทำข้อกำหนดให้ผู้รับจ้างดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานและความปลอดภัย เช่น ติดตั้งป้ายหรือสัญญาณไฟเตือนและแผงกั้นขอบเขตการก่อสร้าง ฯลฯ ทั้งนี้ จะมีเจ้าหน้าตรวจมาตรฐานความปลอดภัยของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่เป็นวิชาชีพเฉพาะ

และมีอำนาจในการตรวจความปลอดภัย หรือแม้แต่การระงับการก่อสร้างหากไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด
         - การบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่การก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการขุดเจาะ เปิดหน้าดิน หรือดับไฟ จะมีการประชาสัมพันธ์เรื่องการก่อสร้างบริเวณพื้นที่หน้าร้านค้าหรือบ้านเรือนที่จะมีการก่อสร้าง ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าร่วมกับผู้รับจ้าง เทศบาลนครอุบลราชธานี
การฟ้าส่วนภูมิภาคฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นอาจต้องปรับเปลี่ยนเวลาในการดำเนินการ เพื่อให้กระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด

ถาม ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการก่อสร้างครั้งนี้?
ตอบ ประชาชนชาวอุบลราชธานีจะได้ประโยชน์ที่ชัดเจน ดังนี้
  1. มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคง ปลอดภัย ลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ จากภัยธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ **รวมถึงลดปัญหาอุบัติเหตุสายไฟสายเคเบิลรัดคอประชาชนอีกด้วย
  2. รองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี
  3. จังหวัดอุบลราชธานีมีภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากทิวทัศน์บริเวณจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาฯ เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม สะอาดตา ที่สำคัญจะเสริมความสง่างามให้ต้นเทียนพรรษาอุบลราชธานี สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีผลทำให้นักท่องเที่ยวช่วยประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนมาเที่ยวและสร้างรายได้ให้ชาวจังหวัดอุบลราชธานีมากยิ่งขึ้น

ถาม หลังการประชาพิจารณ์จะดำเนินการอย่างไรต่อ?
ตอบ หลังจากการประชาพิจารณ์ เทศบาลนครอุบลราชธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของประชาชน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการ ซึ่งการตัดสินใจของเทศบาลฯ และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีความสมเหตุสมผล และโปร่งใสมากขึ้น เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งนี้ กรณีตัดสินใจดำเนินการ เทศบาลนครอุบลราชธานี จะตั้งงบประมาณในหมวดเงินอุดหนุนให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้
- ตั้งจ่ายในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 60,000,000 บาท
- ตั้งจ่ายในงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2564   จำนวน 58,130,200 บาท
**การตั้งงบประมาณเป็น 2 ปี เนื่องจากไม่ให้กระทบกับการแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆของประชาชน 

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์

2704768
วันนี้
เมื่อวาน
สัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทุกวัน
2169
2689
6770
2691964
31735
48125
2704768

Your IP: 3.146.152.99
2024-04-25 06:13