Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c bekotv234579

กรมชลประทานเฝ้าระวังภาวะโลกร้อนส่งผลต่อคุณภาพน้ำ สั่งติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจในการใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำร่อง 4 อ่างฯ ก่อนขยายผลไปทั่วประเทศ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) หรือที่รับทราบกันว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนที่ไม่มีความแน่นอน ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การบริหารจัดการน้ำค่อนข้างยากขึ้น จะต้องมีการวางแผนรองรับอย่างรอบคอบแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำด้วย เช่น อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นทำให้น้ำระเหยเร็ว ค่าความเค็มของน้ำจะเพิ่มขึ้น หรือปริมาณน้ำฝนจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้คุณภาพของน้ำเปลี่ยนไปเช่นกัน ซึ่งอาจจะเหมาะสม หรือไม่เหมาะกับการปลูกพืชบางชนิด เป็นต้น กรมชลประทานจึงได้สั่งการให้ทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ความสำคัญต่อภาคการเกษตร โดยระยะแรกได้นำร่องดำเนินการในพื้นที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำนางรอง อ่างเก็บน้ำคลองมะนาว อ่างเก็บน้ำลำจังหัน และอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย จังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ ตลอดทั้งปี หลังจากนั้นจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ

นายธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า กรมชลประทานได้ทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตามแผนการส่งน้ำแก่เกษตรกรทุกฤดูกาลเป็นเวลา 2 ปี พบว่า น้ำมีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะกับการนำไปใช้ปลูกพืชแทบทุกชนิด รวมถึงการทำประมง สามารถนำไปใช้ได้ในทุกกิจกรรมทางชลประทาน แต่ปริมาณน้ำในอ่างฯ ทั้ง 4 มีค่าดัชนีชี้วัดที่ตรงกันคือ ค่าความเค็ม ที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ แต่ยังไม่มีผลต่อการเกษตรกรรม และ Climate Change ยังไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม หากวันหนึ่งสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อคุณภาพน้ำจากอ่างเก็บน้ำชลประทาน อาจมาในรูปแบบที่ไม่มีผลกระทบต่อการเกษตร แต่มีผลต่อการอุปโภค-บริโภค เช่น มีแร่ธาตุบางชนิดมากเกินไป หรือในรูปแบบอื่นๆ กรมชลประทานก็จะสามารถเตือนเกษตรกร และประชาชนได้ทันการณ์ ดังนั้น การติดตามเฝ้าระวังช่วยให้กรมชลประทานได้รับรู้สภาพน้ำและนำน้ำไปใช้อย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงจากความเสียหาย ประหยัดน้ำและงบประมาณ ทำให้การใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุด คือความปลอดภัยต่อน้ำดื่มน้ำใช้ที่ประชาชนใช้ในการอุปโภคบริโภค” นายธนา กล่าว

นอกจากนี้ การติดตามและเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบด้วยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ยังจะช่วยดูแลคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำตามยุทธศาสตร์ของกรมชลประทานได้เป็นอย่างดี ในอนาคตกรมชลประทานจะมีการพัฒนาเครื่องมือวัดค่าคุณภาพน้ำแบบหัวรวม ใช้อ่านค่าดัชนีที่สำคัญของน้ำในเบื้องต้น เหมาะกับนำไปใช้อ่านค่าคุณภาพน้ำแบบทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำสำคัญที่ต้องส่งน้ำให้กับพืชเศรษฐกิจ

สำหรับการติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำในพื้นที่ดังกล่าว จะขยายผลดำเนินงานในทุกภูมิภาคของประเทศ คาดว่าภูมิภาคต่อไปจะเป็นภาคตะวันออกของประเทศไทย

8 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.