Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c ehjlpruvxz67

ปัจจุบันโรคข้อเข่าเสื่อมนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้สูงอายุในประเทศไทย จากสถิติพบว่าประชาชนคนไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมกว่า 6 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่ มักมีอาการปวดเข่าเวลาเดิน

โดยเฉพาะตอนเดินขึ้นบันได อาการปวดส่วนมากมักเป็นบริเวณด้านในของข้อเข่า เวลานั่งอยู่เฉยๆ มักไม่มีอาการปวด ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการเดิน สูญเสียความมั่นใจ มีผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง บางกรณี ที่ผู้ป่วยมีข้อเข่าเสื่อมและขาโก่งมากๆ นั้นมีผลทำให้การเดินของผู้ป่วยผิดปกติไป มีโอกาสเกิดการหกล้มและทำให้เกิดการหักของกระดูกบริเวณตะโพก ทำให้ผู้ป่วยเกิดทุพพลภาพเพิ่มมากขึ้น

          ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมเริ่มต้นด้วยการบรรเทา อาการปวด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน มีความสำคัญมาก พยายามหลีกเลี่ยงการนั่งคุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่ชอบนั่งสมาธิ เพราะการนั่งในท่าที่งอเข่ามากๆ จะทำให้เพิ่มแรงดันภายในเข่า และกระดูกที่งอกจากโรคข้อเข่าเสื่อมไปกดทับกับเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆ เข่า จะทำให้ท่านมีอาการปวดมากขึ้น ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักร่างกายมากจำเป็นต้องลด น้ำหนัก ซึ่งส่วนใหญ่ที่แนะนำให้ลดประมาณร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว

          การใช้ยาลดปวดเพื่อบรรเทาอาการก็ควรระมัดระวัง ยาที่ค่อนข้างจะปลอดภัยมากที่สุดคือ ยาพาราเซตามอล จะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าได้ ต้องระวังการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ที่เวลาทานแพทย์มักจะแนะนำให้รับประทานหลังอาหารทันที เพราะจะมีผลต่อกระเพาะอาหาร นอกจากนั้นอาจมีผลต่อไตได้ หากจำเป็นต้องรับประทานยากลุ่มนี้ควรจะรับประทานหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายสามารถขับยานี้ออกไปได้ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องไตควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้การทำงานของไตแย่ลง

          นอกจากนี้  ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเข่าเสื่อมมาก และขาโก่งผิดรูป มีผลต่อการใช้งานของข้อเข่าในชีวิตประจำวัน เดินลำบาก คุณหมอแนะนำว่า ให้รักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ด้วยเทคโนโลยี ความรู้และทักษะของแพทย์ในปัจจุบันทำให้การรักษา ข้อเข่าด้วยวิธีการผ่าตัด เปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ผลดีมาก ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ภายใน 2 วัน หลังการผ่าตัด สิ่งที่ผู้ป่วยกลัวการผ่าตัดรักษามี 2 ประการหลักๆ คือ 1.ผ่าแล้วกลัวเดินไม่ได้ และ 2.กลัวอาการปวดหลังผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้และความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้ผลการรักษาผ่าตัดได้ผลดีเยี่ยม หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดน้อยมาก และสามารถลุกเดินได้หลังผ่าตัด และสามารถเดินได้โดยไม่ใช้ไม้เท้าชนิดวอล์กเกอร์ ภายใน 3 เดือน หลังผ่าตัด วิธีการลดอาการปวดหลังการผ่าตัด มีการนำเทคนิคของการระงับความรู้สึกที่บริเวณสันหลัง หรือการระงับความรู้สึกที่เส้นประสาทโดยตรง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดลดน้อยลงเป็นอย่างมาก รวมทั้งเทคนิคการผ่าตัดที่ดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยการผ่าตัดมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก และสามารถกลับไปทำงาน และช่วยเหลือตนเองได้เร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีเทคนิคการเย็บแผลชั้นใน และใช้กาวทาบริเวณแผลผ่าตัดซึ่งช่วยให้ ผู้ป่วยไม่ต้องมาตัดไหมหลังผ่าตัด

          ส่วนการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดข้อเข่าเทียมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยต้องไปตรวจเช็คสุขภาพของฟันเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีฟันผุ เพราะฟันผุอาจทำให้มีเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่เข่าข้างที่ทำการผ่าตัด ก่อนผ่าตัดทุกครั้งแพทย์จำเป็นต้องตรวจเช็คสุขภาพของท่านเกี่ยวกับโรคที่ท่านเป็นอยู่ หรือป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนเสมอ เช่น การตรวจการทำงานของหัวใจ การถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไขกระดูก การทำงานของไตและตับ เพื่อความ ปลอดภัยของผู้ป่วยสูงสุดและให้ผลการรักษาที่ดีเยี่ยม ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้จากการผ่าตัดได้แก่ การติดเชื้อ ที่บริเวณแผลผ่าตัดซึ่งสามารถเกิดได้ประมาณร้อยละ 1 ภาวะลิ่มเลือดที่ขาอุดตันก็มีโอกาสเกิดได้ แต่น้อยมาก

          ปัจจุบันการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นอย่างมาก สามารถใช้งานของข้อเข่าได้เป็นอย่างดี ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อย ผู้ป่วย ที่ได้รับการผ่าตัดมีความพึงพอใจต่อผลการรักษาสูง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไม่น่ากลัวอย่างที่คิดครับ คุณหมอกล่าวในที่สุด

9 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.