Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c fhkmpvwyz159

จากกระแสของละครดัง ทำให้การ "กินหมากพลู" ของคนสูงอายุสมัยก่อน ถูกพูดถึงอีกครั้ง แม้ในปัจจุบันจะมีการยกเลิกการเคี้ยวหมาก ตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่คนในชนบทบางท้องถิ่นก็ยังคงนิยมเคี้ยวหมากกันอยู่บ้าง ถึงขั้นบางรายกินข้าวไม่ลง ถ้าไม่ได้กินหมากก่อน

ในอดีตวัฒนธรรมดังกล่าว เป็นทั้งสิ่งที่สร้างความสุขให้ผู้สูงวัย ขณะเดียวกันก็เป็นแฟชั่นอีกด้วย เพราะถ้าหากหนุ่มสาวคนไหนที่ฟันไม่ดำก็ถือว่าเชยเป็นอย่างมาก จึงทำให้วัยรุ่นและคนสูงอายุแข่งกันฟันดำ แม้ปัจจุบันการกินหมากพลูจะถูกยกเลิก หรือบริโภคกันในกลุ่มเล็กๆ แต่ถ้ามองในแง่ของเศรษฐกิจ ก็สามารถเพาะปลูกและส่งผลออก ใบพลู หมากสดหมากแห้ง เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับประเทศอยู่ไม่น้อย

ที่สำคัญมีข้อมูลระบุเกี่ยวกับประโยชน์ของการเคี้ยวหมาก เป็นต้นว่า "ใบพลูสด" นั้น แก้ปวดฟัน, แก้รำมะนาด, แก้กลิ่นปาก, ช่วยขับลมในลำไส้แก้ท้องอืด ทำให้กระปรี้กระเปร่า นอกจากนี้ "ปูนแดง" ก็สามารถช่วยแก้โรคบิด และอาการท้องเสียได้ ที่สำคัญในตัว "หมาก" และ "ใบพลู" ยังมีสารอัลคาร์ลอยด์ ที่เชื่อว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่น และเพิ่มการเต้นของหัวใจ อีกทั้งยังเพิ่มอุณหภูมิของผิวหนังในร่างกาย...

อย่างไรก็ดี โบราณว่าเมื่อมีประโยชน์ ก็ย่อมต้องมีโทษในตัวเองได้เช่นกัน เนื่องจากมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า การเคี้ยวหมากติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งในช่องปากได้เช่นกัน

ผศ.ทพ.วิจิตร ธรานนท์ ผู้อำนวยการ (ADTEC) ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง กล่าวว่า "จริงๆ แล้วการเคี้ยวหมากจะทำให้เหงือกอักเสบ และยังเป็นสาเหตุของโรครำมะนาดอีกด้วย และเป็นเคสที่หมอพบเป็นประจำ อันเนื่องมาจากการสีและขัดฟันบ่อยๆ ซึ่งนั่นจะทำให้ตัวฟันสะสมเชื้อแบคทีเรีย มีหินปูนเกาะ และเป็นผลให้เหงือกอักเสบ จากนั้นก็จะเกิดรำมะนาด ส่งผลให้ฟันโยกและหลุดไปในที่สุด นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งช่องปากได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่เคี้ยวหมากเป็นเวลานานๆ และทำให้เกิดแผลลึกในช่องปาก ผสมกับการระคายเคืองจากเส้นใยที่ใช้การกินหมากรวมถึงปูนแดง โดยสรุปการกินหมากไม่สามารถป้องกันได้ทั้งโรครำมะนาด และลดกลิ่นปากแต่อย่างไร แต่การลดกลิ่นในช่องปากของผู้สูงอายุ สามารถทำได้โดยการหมั่นไปพบแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อขูดหินปูน อีกทั้งต้องหมั่นแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน จึงจะสามารถป้องกันได้ เพราะจริงๆ แล้วการเคี้ยวหมากเป็นเพียงความสุขของผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งถ้างดได้ก็ควรงดจะดีที่สุด"

ที่กล่าวมาถือเป็นความรู้ดีๆ จากการเคี้ยวหมาก ที่อย่างไรเสียก็ถือเป็นวัฒนธรรมดีงาม ซึ่งควรบอกเล่าแก่ลูกหลาน ถึงรูปแบบของการต้อนรับขับสู้ ด้วยการยกเชี่ยนหมากออกมารอรับแขกเหรื่อที่มาเยี่ยมเรือนชาน ซึ่งแสดงออกถึงความมีมิตรจิตมิตรใจ ที่แม้ว่าเด็กยุคใหม่จะไม่นิยมรับประทานแล้วก็ตาม.

15 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.