Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c jlrsuvxy2569

พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ระบุว่า การตีอาจจะช่วยลดพฤติกรรมไม่ดีของเด็กให้เกิดขึ้นน้อยลง และมันก็หยุดเด็กที่ทำตัวไม่ดีได้รวดเร็วดี แต่ข้อไม่ดีก็คือ การตีเป็นการลงโทษที่ทำให้สัมพันธภาพของคนที่ตีและคนที่ถูกตีเสียไปได้ง่าย

ยิ่งเป็นการตีที่รุนแรง ใช้อารมณ์ มีคำพูดด่าทอดุว่ารุนแรงผสมเข้าไป ก็นอกจากเจ็บตัวแต่ทำให้เจ็บใจไปทุกฝ่าย และหมอก็คิดว่าคนที่ตี โดยมากไม่มีใครอยากจะตีเด็กหรอก

นอกจากนั้นการตีที่รุนแรง บ่อยครั้ง ตีโดยไม่รับฟังและไม่เห็นอกเห็นใจ ก็อาจจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าผู้ใหญ่ที่ตีเขา ไม่เข้าใจ ไม่รักเขาหรือเปล่า ถ้าเป็นนาน ๆ ก็จะทำให้เด็กรู้สึกขาดความเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจ นำไปสู่การมองตัวเองในแง่ลบ ไม่มั่นใจ สูญเสียคุณค่าในตัวเอง กลายเป็นคนอารมณ์ไม่มั่นคง อาจมีการใช้ความรุนแรงกับคนรอบข้าง เพราะเรียนรู้ซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว

คุณหมอบอกต่อว่า นอกเหนือจากการตีมีหลายวิธีที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ผิดถูก ใช้วิธีการปรับพฤติกรรมวิธีอื่นจะดีกว่าการตี เช่น การตัดสิทธิ์ที่ชอบ ตัวอย่าง ทำโทษการะเกดไม่ให้ไปเที่ยวที่ไหนเป็นเวลา 1 อาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่การะเกดชอบมาก ถ้าถูกลงโทษเช่นนี้คงไม่กล้าทำผิดไปอีกนานทีเดียว หรือ การให้ทำความดีชดเชย เช่น ให้ทำงานบ้าน(ควรเลือกเป็นงานที่น่าเบื่อและการะเกดไม่ชอบทำ) 2 อาทิตย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ หลักการในการปรับพฤติกรรมเด็กนั้นหากจะทำให้ได้ผลดี ต้องทำด้วยพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เด็กจะต่อต้านน้อยกว่า เชื่อฟังและมีความเกรงใจมากกว่า และต้องเริ่มทำตั้งแต่เด็กยังเล็ก สิ่งที่เด็กทำได้ดีก็ต้องชมเชยด้วย ใช่ว่าจะมองหาสิ่งที่เด็กทำผิดอย่างเดียวและผู้ใหญ่ต้องจัดการอารมณ์ให้ดี บางครั้งผู้ใหญ่ก็โกรธมากจนทำให้ปรับพฤติกรรมได้ไม่ดีเทำไหร่ เพราะความโกรธจนขาดสติ อย่าลืมว่า การปรับพฤติกรรมไม่ใช่การเอาชนะคะคานกัน

16 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.