Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c dflprtwxyz68

กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับกรมการข้าว ส่งเสริมให้สหกรณ์เพิ่มปริมาณการผลิตข้าว กข 43  ตอบโจทย์ผู้บริโภค ลดเบาหวาน-ลดน้ำหนัก

นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลสำเร็จของการจัดทำโครงการส่งเสริมสหกรณ์ขยายพื้นที่ปลูกข้าว กข 43 ว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับกรมการข้าว ส่งเสริมให้สหกรณ์เพิ่มปริมาณการผลิตข้าว กข 43 โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานสนับสนุนเรื่องพื้นที่ปลูกข้าวกข 43 คัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการผลิตข้าว และสนใจเข้าร่วมโครงการ ทำหน้าที่ดูแลและสนับสนุนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกปลูกข้าว กข 43 ตามข้อกำหนด เริ่มตั้งแต่การขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ปลูกข้าวกข 43 การดูแลแปลงปลูกและควบคุมคุณภาพแปลงตามมาตรฐาน GAP จนถึงขั้นตอนรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกร และหากสหกรณ์ใดมีโรงสีข้าวที่ผ่านมาตรฐาน GMP แล้ว ก็สามารถแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่ายสู่ตลาดได้ทันที แต่ถ้าสหกรณ์ยังไม่มีโรงสีก็สามารถที่จะรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกเพื่อส่งจำหน่ายให้กับโรงสีเอกชน

ขณะเดียวกัน กรมการข้าวจะเข้ามาช่วยดูแลตั้งแต่ขั้นตอนคัดเมล็ดพันธุ์ ดูแลแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์และ แปลงผลิตข้าวของสมาชิกสหกรณ์  การตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GAP และรับรอง GMP โรงสีข้าวของสหกรณ์                 

สำหรับการสนับสนุนเรื่องเมล็ดพันธุ์ หากเป็นสหกรณ์ที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการ จะได้รับการสนับสนุน 30% จากกรมการข้าว ส่วนที่เหลือเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ผ่านสหกรณ์ที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวกข 43 และผ่านการตรวจสอบรับรองคุณภาพจากกรมการข้าวแล้ว ในราคากิโลกรัมละ 19 บาท  ซึ่งกรมการข้าวมีเมล็ดพันธุ์เพียงพอที่จะจำหน่ายให้กับสหกรณ์ที่จะนำไปส่งเสริมสมาชิกได้เพาะปลูกในเดือนเมษายนนี้ โดยจะเริ่มที่สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำก่อน          

ส่วนพื้นที่อื่นจะเริ่มปลูกในเดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งคาดว่าการปลูกข้าวกข 43  จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ทำนาปีและนาปรังประมาณ 19,000 บาทต่อฤดูกาลผลิต

นายพิเชษฐ์  กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีสหกรณ์ได้วางแผนการผลิตข้าวกข 43 นาปี  พื้นที่เพาะปลูกรวม 15,016 ไร่ จำนวน 12 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรดอนเจดีย์ จำกัด 500 ไร่ สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด 300 ไร่ สหกรณ์การเกษตรเขาย้อย จำกัด 200 ไร่ สหกรณ์การเกษตรท่าเรือ จำกัด 300 ไร่ สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินช้างใหญ่ จำกัด 2,000 ไร่ สหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด 3,000 ไร่ สหกรณ์การเกษตรทุ่งวัดสิงห์ จำกัด 1,220 ไร่ สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด 5,014 ไร่ สหกรณ์การเกษตรนิคมฯบางระกำ จำกัด 1,000 ไร่

สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด 452 ไร่ สหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด 500 ไร่ และสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด (กลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวคลองมะพลับ) 500 ไร่ และยังมีสหกรณ์ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง คือ สหกรณ์การเกษตรคลองหลวง จำกัด สหกรณ์การเกษตร ลำลูกกา จำกัด สหกรณ์การเกษตรบรรพต จำกัด และสหกรณ์การเกษตรเมืองอุทัยธานี  จำกัด

ทั้งนี้ กรมฯจะเร่งส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์หันมาปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 แทนข้าวพันธุ์ทั่วไป เนื่องจากเป็นข้าวที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน  คุณสมบัติของข้าวกข 43 เป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ  รสชาติเหนียวนุ่มรับประทานอร่อย มีค่าน้ำตาลอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ เหมาะกับผู้บริโภคที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและผู้ที่ห่วงใยสุขภาพ รวมถึงผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก  เพราะเมื่อรับประทานข้าวกข 43 ซึ่งมีน้ำตาลต่ำ  ร่างกายก็จะเปลี่ยนแป้งไปเป็นน้ำตาลได้ช้าลง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และช่วยอิ่มท้องนานไม่หิวง่าย ซึ่งในอนาคตกรมฯมีแผนที่จะสนับสนุนสหกรณ์ต่าง ๆ ขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวกข 43 ให้ครบ 1 แสนไร่

ขณะนี้มีหลายสหกรณ์ทยอยสมัครเข้าร่วมโครงการ แต่เนื่องจากข้าวพันธุ์กข 43 เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกได้เฉพาะในเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เป็นข้าวไม่ไวแสง อายุเก็บเกี่ยวเพียง 95 วัน ดังนั้น ลักษณะพื้นที่ปลูกจะมุ่งไปที่สหกรณ์ที่ผลิตข้าวในระบบแปลงใหญ่ หากสหกรณ์ใดยังไม่ได้เป็นสหกรณ์ที่อยู่ในระบบแปลงใหญ่ จะต้องสมัครเข้าเป็นระบบการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่เสียก่อน เพื่อให้หน่วยงานราชการอื่นเข้าไปส่งเสริมในเรื่องของการปลูก ทั้งการให้ข้อมูลและการถ่ายทอดองค์ความรู้การเพาะปลูก การตรวจรับรองระบบการผลิตที่ตรงตามมาตรฐาน และการส่งเสริมการตลาดนำการผลิต

สำหรับการขยายช่องทางการจำหน่ายข้าวกข 43 ภายในประเทศ กรมฯได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการวางแผนการตลาด โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับภาคเอกชน ทั้งโรงสีและผู้ประกอบการที่สนใจทำข้อตกลงซื้อขายข้าวร่วมกับเครือข่ายสหกรณ์  ในเบื้องต้นจะมีสหกรณ์ 9 แห่งในจังหวัดสุพรรณบุรี เพชรบุรี อยุธยา อุทัยธานีและชัยนาท รวบรวมผลผลิตข้าวกข 43 ในฤดูนาปรังที่ผ่านมา จำนวน 941 ตัน เพื่อเตรียมส่งมอบตามข้อตกลงซื้อขายในล็อตแรก  มูลค่า 11.763 ล้านบาท

“ตลาดหลัก ๆ ที่สหกรณ์จะส่งจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่ตกลงจะซื้อข้าวเปลือกกข 43 เพื่อนำไปแปรรูป เช่น บริษัท ข้าว อิ่ม ทิพย์ จำกัด  บริษัท ไทยฮา จำกัด (มหาชน) บริษัท เมดิฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ผกากาญจน์ จำกัด  บริษัท ตราสามใบเถา จำกัด โรงสีปอรุ่งเรืองธัญญา โดยกำหนดส่งมอบตั้งแต่กลางเดือนเมษายนนี้  เป็นต้นไป ในราคาตันละ 12,500 บาท ณ ความชื้นที่15%  ซึ่งเกษตรกรมีความพึงพอใจกับราคานี้มาก เพราะเมื่อเทียบกับผลผลิตต่อไร่ของข้าวชนิดอื่นแล้ว  ปรากฏว่าข้าวกข 43 ขายได้กำไรที่ดีกว่า และคาดว่าข้าวเปลือกกข 43 ล็อตแรกของสหกรณ์ที่ผลิตออกมา  จะสามารถกระจายออกสู่ตลาดได้ทั้งหมด” นายพิเชษฐ์ กล่าว

แม้ว่าตลาดรองรับข้าวกข 43 ขณะนี้ยังเป็นตลาดค้าส่งข้าวเปลือกเป็นหลัก แต่ก็มีสหกรณ์บางแห่งที่มีโรงสีข้าว เช่น สหกรณ์การเกษตรดอนเจดีย์ จำกัดและสหกรณ์การเกษตรทุ่งวัดสิงห์ จำกัด ได้แปรรูปข้าวกข 43 เป็นข้าวสาร บรรจุถุงสุญญากาศที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจากกรมการข้าวว่าเป็นข้าวกข 43 แท้ที่ผลิตจากสหกรณ์ และวางขายตามตลาดทั่วไป  ซึ่งกรมฯจะสนับสนุนให้สหกรณ์ขยายช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะนำไปวางขายภายในห้างโมเดินเทรด ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ตามจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงร้านสหกรณ์ในมหาวิทยาลัยและร้านสหกรณ์ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ  ซึ่งคาดว่าจะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพได้ตรงจุด อีกทั้งยังมีแผนจะประชาสัมพันธ์ข้าวกข 43 ของสหกรณ์ผ่าน Social Media ด้วย เพื่อจะสนับสนุนข้าวกข 43 ให้ติดตลาด มุ่งเจาะฐานลูกค้ากลุ่มคนที่รักษาสุขภาพ และในอนาคตได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้เป็นข้าวออแกนิค เพื่อดึงดูดลูกค้ามากขึ้น

“ขณะนี้ได้รับการติดต่อจากห้างบิ๊กซีและบริษัท แอมเวย์ เพื่อเจรจาขอสั่งซื้อ ซึ่งคาดว่าข้าวกข 43 ของสหกรณ์จะสามารถนำไปวางขายในห้างบิ๊กซีได้เร็ว ๆ นี้  ขณะเดียวกันทางกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาช่วยในเรื่องการประชาสัมพันธ์และทำตลาด โดยหาภาคเอกชนที่สนใจสั่งซื้อข้าวกข 43 เข้ามาจับมือเป็นคู่ค้ากับสหกรณ์ด้วย”นายพิเชษฐ์  กล่าว

18 เมษายน 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.