Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c eghikostw238

เด็กที่มีทั้งความฉลาดทางการเรียนรู้และความฉลาดในการจัดการกับอารมณ์ เป็นเด็กที่ใคร ๆ ก็หลงรักและอยากเข้าใกล้ เพราะสองสิ่งนี้เป็นเหมือนเครื่องหมายสำคัญของความสำเร็จและความสุขในชีวิตคนเรา ดังนั้น การจะพัฒนาเด็กให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพของเขา เราจึงควรส่งเสริมทั้ง IQ และ EQ ควบคู่กันไป

IQ หรือ Intelligence Quotient หรือความฉลาดทางปัญญา คือความสามารถทางการสื่อสาร การเรียนรู้ การจำ การตัดสินใจ และการคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด และสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้เต็มตามศักยภาพของเด็ก หากได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก

องค์ประกอบสำคัญของ IQ ที่ควรเสริมสร้างให้กับเด็กในช่วงปฐมวัย

  • ความช่างสังเกต  เป็นทักษะที่จะช่วยดึงศักยภาพในธรรมชาติของตัวเด็กออกมา ให้เขาเข้าใจในสิ่งรอบตัว และสามารถอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการตัดสินใจ และการแก้ปัญหา
  • การถ่ายทอดจินตนาการ  เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของเด็กให้คนรอบข้างรับรู้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยทั้งทักษะด้านภาษา ทักษะทางสังคม และการควบคุมอารมณ์ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข
  • การคิดเชื่อมโยงเหตุผล  เป็นความสามารถในการรับรู้ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ และสามารถทำนายความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ โดยอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นรากฐานในการเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล
  • การทำงานประสานกันระหว่างมือและตา  เป็นทักษะสำคัญที่สะท้อนถึงความฉลาดทางสติปัญญาผ่านการปฏิบัติ เพราะต้องอาศัยการทำงานที่ประสานกันของประสาทสัมผัสเพื่อการเรียนรู้ การคิด และการแก้ไขปัญหา

EQ หรือ Emotional Quotient หรือความฉลาดทางอารมณ์ คือความสามารถในการเข้าใจตัวเองและผู้อื่น สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง และแสดงออกได้อย่างเหมาะสม มีการมองโลกในแง่ดี ปรับตัวได้ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถพัฒนาได้จากการเลี้ยงดู และการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมในวัยเด็ก

องค์ประกอบสำคัญของ EQ ที่ควรเสริมสร้างให้กับเด็กในช่วงปฐมวัย

  • การรู้จักและควบคุมอารมณ์  ทั้งอารมณ์อยากได้ อยากทำตามใจตัวเอง และการรู้จักอารมณ์ของตัวเอง สามารถสงบ อดกลั้นอารมณ์ได้โดยไม่เก็บกดอารมณ์ไว้
  • การเรียนรู้ระเบียบวินัย  ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องช่วยเด็กควบคุมความประพฤติอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เล็ก เพื่อที่เมื่อเด็กโตขึ้นแล้ว เขาสามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองได้ โดยวินัยที่พ่อแม่ควรจะใส่ใจเป็นพิเศษมีตั้งแต่วินัยในเรื่องการเรียน วินัยในการควบคุมตัวเอง และวินัยในความประพฤติทั่วไป เช่น การเก็บสิ่งของ การตรงต่อเวลา หรือช่วยลูกน้อยดูแลตัวเองได้ตามวัย ไม่กดดันหรือปล่อยปละละเลยเขาจนเกินไป
  • ความสนุกสนานร่าเริง  เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็ก ที่เขาจะได้สนุกกับการเล่น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นคนเดียว หรือเล่นเป็นกลุ่มกับเพื่อน ทำให้เด็กมีพื้นฐานอารมณ์ที่ดี จิตใจแจ่มใส และรู้จักมีปฏิสัมพันธืที่ดีกับคนรอบข้าง

15 ก.พ.2561 -  ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.