Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

2017 12 21 5

วิถีชีวิตที่เร่งรีบถูกบีบด้วยหน้าที่ต่างๆ ทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า เบื่อ เศร้าหรือแม้กระทั่งไม่อยากทำอะไร หากคุณกำลังรู้สึกเช่นนี้อยู่และหาทางออกไม่ได้ วันนี้เรามีมุมมองใหม่ๆ ที่นำไปปรับใช้กับตนเองหรือส่งต่อเรื่องราวดีๆ ให้คนรอบข้าง เพื่อให้เตรียมรับมือกับเช้าวันใหม่ของการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขมากขึ้น

แนวคิดสร้างสุขท่ามกลางชีวิตใหม่ในสังคมเดิม

1.เริ่มต้นที่ทัศนคติ มองโลกในแง่ดีทุกเรื่อง เพราะการมองโลกในแง่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของทัศนคติเชิงบวกที่ทำให้มนุษย์เกิดพลังในการใช้ชีวิต ทำในสิ่งที่สร้างสรรค์จนเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายอย่างไม่น่าเชื่อ ลองเปลี่ยนมุมมองง่ายๆ สมมุติเรามีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว มันอยู่ที่เราจะมองน้ำแก้วนั้นอย่างไร? ระหว่างเหลือน้ำแค่ครึ่งแก้ว หรือเหลือน้ำตั้งครึ่งแก้ว หากเรามองแบบไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใครเราจะมีความสุขมากกับการใช้ชีวิตที่ให้กำลังใจตัวเองในทุกๆ วัน

2.จัดลำดับชีวิตให้พอดี ลองใช้ชีวิตให้ช้าลงบ้าง เพราะชีวิตในยุคดิจิทัลมักมีอะไรให้คุณทำมากมายเสมอ พอลองกลับไปทบทวนในแต่ละวันเราจะพบว่ารายการในแต่ละวันที่เราทำนั้นเยอะมาก ต้องหันกลับมาจัดลำดับให้กับชีวิตตนเอง อันไหนควรทำก่อน-หลัง จัดความสำคัญใหม่ ไม่ใช่ทุกอย่างสำคัญไปหมดจนเราต้องมาอดมื้อกินมื้อทั้งที่มีเงินอยู่เต็มกระเป๋า หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่มีเวลาทำกิจกรรมกับครอบครัว เมื่อสิ่งเหล่านี้ค่อยๆหายไปจากชีวิตคุณ ไม่แปลกที่คุณจะรู้สึกมีความทุกข์เพิ่มขึ้น ดังนั้นลองคิดทบทวนจัดตารางให้ตนเองดีๆ คุณจะมองเห็นช่องทางแห่งความสุขเพิ่มเข้ามาในตารางชีวิต

3.หาความสุขจากสิ่งที่เรียบง่าย เปิดรับสิ่งสวยงาม ชื่นชมกับธรรมชาติ ความฉ่ำเย็นของสายลม ความสวยงามของท้องฟ้า หาเวลาเดินช้าๆ ในสวนสาธารณะ ดูนก ปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ หรือออกไปสัมผัสธรรมชาติในที่ไกลๆ ดูบ้าง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน เมื่อสมองของเราได้รับการผ่อนคลายความสุขเข้ามาแทนที่ความเครียดก็ทำให้เราได้หยุดมองโลกอย่างชัดเจนเห็นความเป็นจริงมากขึ้น สุดท้ายธรรมชาติที่เราได้ไปสัมผัสนั้นจะตอบแทนโดยการให้คุณมีความสุขกับสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้ามากขึ้น

4.ลดตัวตนให้เล็กลง รู้จักคำว่า “พอ” จงมองเห็นสิ่งที่มีให้มากกว่าสิ่งที่ขาด เห็นคุณค่าในตนเองไม่ให้ชีวิตของตัวเองไปผูกติดวัตถุรอบกาย ใช้ชีวิตอยู่กับความพอเพียง เพราะความรู้จักพอเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้บังเกิดความสุขที่ไม่สิ้นสุด เมื่อเรามีมากพอสิ่งที่ตามมาคือการให้ โดยการช่วยเหลือสังคมทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้จิตใจเราเป็นสุขมากขึ้น เห็นผู้คนรอบกายมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือคนที่กำลังลำบากได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แค่นี้จิตใจเราก็เต็มเปลี่ยนไปด้วยความสุข

5.พัฒนาจิตใจ ใช้หลักศาสนา ทุกหลักศาสนาสำคัญต่างๆ ในโลกมักชี้ให้เห็นสาเหตุของการเกิดทุกข์ที่แฝงไปด้วยข้อคิดและวิธีปฏิบัติ เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์และนำไปสู่ความสุขที่แท้จริงได้

การไม่นำพาตนเองเข้าไปหาความทุกข์นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็จงอยู่กับสิ่งที่เกิดทุกข์ให้เป็น นั่นหมายความว่าอยู่กับความทุกข์อย่างเข้าใจ และหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คิดหาทางแก้ไขปัญหาอย่างไตร่ตรอง และฝึกมีความสุขกับสิ่งรอบตัว เพราะหลายคนอาจเรียกร้องความสุขจากคนอื่น ซึ่งแท้จริงแล้วความสุขเกิดขึ้นที่ตัวเราทั้งสิ้น

สาระสุขภาพ-21 ธ.ค.60

2017 12 21 4

“คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการปั่นจักรยานได้เฉพาะเรื่องการออกกำลังกายที่ให้สุขภาพดีทางร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่แท้ที่จริงแล้วคำว่า“สุขภาพ”ยังหมายรวมถึง สุขภาพด้านสังคมเมือง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม” นางสาวอัจจิมา มีพริ้ง ผู้จัดการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) เริ่มบทสนทนาเกี่ยวกับประโยชน์ของการปั่นจักรยาน

ผู้จัดการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย อธิบายถึงสถานการณ์ของผู้ที่ใช้จักรยานในปัจจุบันว่า จากการสำรวจของของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย(TCC) พบผู้ใช้จักรยานตามรูปแบบพีระมิด โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.นักแข่งจักรยานมืออาชีพ จะมีจำนวนน้อยสุด 2.ผู้ใช้จักรยานเพื่อกิจกรรมนันทนาการ ท่องเที่ยว ออกกำลังกาย ซึ่งจะมีอุปกรณ์เพื่อป้องกันอันตรายโดยเฉพาะ ทั้งหมวกกันน็อคจักรยาน ถุงมือ ชุดปั่นจักรยาน  เป็นต้น และ 3.ผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และทุกช่วงวัย โดยจากการสำรวจของชมรมจักรยานฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าโดยเฉลี่ยทุกบ้านจะมีรถจักรยานบ้านละ 2 คัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ใช้จักรยานเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวันอยู่แล้วในบริบทที่เอื้ออำนวย

นางสาวอัจจิมา ยังบอกอีกว่า นับตั้งแต่มีการผลักดันให้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน หรือกระแสรณรงค์การปั่นจักรยานของชมรมจักรยานอื่นๆ จะเห็นได้ว่ามีผู้ปั่นจักรยานเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจากกระแสดังกล่าวทำให้เกิดความต้องการอยากใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางระยะใกล้ และได้สุขภาพดี

“ข้อควรระวังพื้นฐานของคนที่ปั่นจักรยานคือ ไม่ปั่นฉวัดเฉวียน มีความระมัดระวัง รู้สัญญาณมือ ที่สำคัญคือ ไม่ว่าผู้ใช้ยานพาหนะชนิดใดก็ตามสิ่งที่ควรมีคือ สติ รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา และปฏิบัติตามกฎจราจร” ผู้จัดการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย แนะนำเพิ่มเติม

นางสาวอัจจิมา ยังบอกถึงวิธีเลือกจักรยานให้เหมาะสมแก่การใช้งานด้วยว่า ก่อนอื่นต้องรู้จุดประสงค์ว่าต้องการใช้จักรยานเพื่ออะไร เช่น ใช้ปั่นเพื่อเดินทางระยะไกล ควรเลือกจักรยานที่มีสมรรถนะการใช้งานที่แข็งแรง ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบของกิจกรรมนั้นๆ หากใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ปั่นในระยะใกล้ก็ควรเป็นจักรยานที่สามารถปั่นสบาย เหมาะสมกับสรีระของตนเอง รวมทั้งกำลังทรัพย์ในการซื้อ และเพื่ออายุการใช้งานที่ยาวนานควรหมั่นตรวจเช็คอุปกรณ์ต่างๆ ของจักรยานให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา

เรื่องต้องรู้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยาน สิ่งที่จำเป็นต้องมีและระบุในกฎหมายมีดังต่อไปนี้

1.กระดิ่งที่ให้เสียงได้ยินในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร

2.เครื่องห้ามล้อ(เบรค) ที่ใช้งานได้ดี สามารถหยุดจักรยานได้ทันที

3.ไฟหน้าแสงขาว ต้องส่องเห็นพื้นทางได้อย่างน้อย 15 เมตร และสว่างพอที่ผู้ขับเลนตรงข้ามมองเห็นด้วย

4.ไฟท้ายแสงแดงที่ให้แสงสว่างตรงไปข้างหลัง หรือติดวัตถุสะท้อนแสงสีแดงแทน

5.ปั่นในทางจักรยานเมื่อมีทางจักรยานให้ปั่น

6.ปั่นชิดฝังซ้ายของถนนตลอดเวลา นักปั่นสามารถปั่นแถวคู่ได้ แต่ควรดูสภาพถนนและสภาพจราจรประกอบด้วย

7.สัญญาณมือที่จำเป็น จากซ้ายไปขวา เลี้ยวซ้าย, หยุดรถ, เลี้ยวขวา, ชะลอความเร็ว

อย่างไรก็ตามผู้ใช้ยานพาหนะควรปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนและมีความเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนร่วมทางนะคะ

สาระสุขภาพ - 21 ธ.ค.60

 

2017 12 21 2

ปัจจุบัน “จักรยาน” ถือว่าเป็นพาหนะสำคัญบนท้องถนนที่เป็นปัญจัยขับเคลื่อนให้ผู้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและตระหนักเรื่องของภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กระทั่งหันมาใช้บริการขนส่งมวลชน เดิน และใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น

“ผศ. ดร. จิรพล สินธุนาวา” อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ผู้ใช้จักรยานพร้อมเล่าว่า ทุกวันนี้มีผู้สนใจเอาจักรยานมาขี่บนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นทุกช่วงอายุ  ซึ่งจะสังเกตเห็นได้จากท่ามกลางนักปั่นกลุ่มใหญ่ๆ นั้น มองลึกๆ แล้วจะมีผู้สูงอายุและเด็กที่เพิ่งเริ่มขี่อยู่ไม่น้อยทีเดียว

“ผู้ใช้จักรยานกลุ่มแรกคือ ขี่จักรยานเพื่อการออกกำลังกาย เพราะได้พบว่ามีความตื่นเต้น น่าสนใจ กว่าการออกกำลงกายด้วยวิธีอื่น ได้เห็นทิวทัศน์ ได้ไปในที่ต่างๆ ที่อยากไป มันเพิ่มอิสระภาพมากกว่าการออกกำลังกายรูปแบบอื่น แต่ส่วนมากก็เป็นนักปั่นที่อยู่ในหมู่บ้าน หรือชุมชนเล็กๆ ไม่ได้ออกมาถนนใหญ่ หรือขี่ทางไกล หรืออาจจะมีนัดขี่เป็นกลุ่มประมาณ 30-50 กิโลเมตรสั้น อันนี้คือการขี่เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ”

ผศ. ดร. จิรพลเล่าต่อว่า อีกกลุ่มหนึ่งคือการ “ขี่เพื่อสันทนาการ” กลุ่มนี้เน้นขี่เพื่อท่องเที่ยว ไปรู้จักสถานที่ต่างๆ เข้าสังคม จึงมักรวมตัวกันเป็นกลุ่ม อาจมีชมรม มีสมาชิกรวมตัวกันไป ขี่แล้วก็เป็นกลุ่มเดียวกัน พูดคุยกันรู้เรื่องสนุกสนานแลกเปลี่ยน พากันไปเที่ยวในที่ๆ ไม่เคยไป ซึ่งโดยมากเส้นทางก็ไม่ค่อยซ้ำ กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการรวมตัว และบางครั้งอาจจะขี่ในเวลากลางคืนด้วย เช่น เราจะพบหลายที่ในสวนสาธารณะ หรือบริเวณที่รถไม่หนาแน่นก็มีเยอะอยู่เช่นกัน

อย่างไรก็ตามยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ "ขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน" จริงๆ คือกลุ่มคนที่ขี่เพื่อการเดินทางไปทำงาน ไปซื้อของ ไปโรงเรียน ไปเยี่ยมญาติ ไปทำธุระต่างๆ แต่ปัจจุบันนี้มีคนในกลุ่มนี้ไม่ถึงร้อยละ 10 ที่ขี่เพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน

“จริงๆ เราก็หวังว่ากลุ่มนี้จะเติบโตขึ้น  เห็นได้ว่า กลุ่มคนที่ขี่เพื่อการท่องเที่ยว การออกกำลังกาย และเพื่อสันทนาการ หันมาขี่เพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันจริงๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นได้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ชัดเจน เพราะจะเป็นกลุ่มที่เพิ่มการพบเห็นของผู้ขับรถยนต์เป็นประจำ เขาจะเห็นว่าเส้นทางนี้มีนักปั่นอยู่เป็นประจำในเวลานี้กี่คน และเขาจะคอยหลบ คอยระวังที่จะลดความเร็วลงมา รวมถึงการเว้นระยะห่างจากริมฟุตบาท เพื่อเว้นพื้นที่ว่างให้จักรยาน ซึ่งตนคิดว่าหากมีการขี่เป็นประจำ คนกลุ่มนี้จะสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้นได้” ผศ. ดร. จิรพลเล่า

ปัจจัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุของผู้ใช้จักรยาน

ข้อนี้ ผศ.ดร.จิรพล อธิบายว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เตรียมพร้อม ขาดทักษะและขาดความระมัดระวังของผู้ขี่จักรยานเองด้วย  ฉะนั้นถ้าจะลดความสูญเสียจากปัญหาดังกล่าวได้จริงๆ จะต้องให้ผู้ใช้จักรยานได้เรียนรู้การใช้จักรยานร่วมเส้นทางกับพาหนะอื่นๆ อย่างปลอดภัย

การให้สัญญาณมือ หมายถึงการสื่อสารกับคนข้างหลัง ในระยะ 50 หลา ก่อนเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา

 - เลี้ยวขวา คือ การยื่นแขนขวาออกไปด้านข้างให้สุดขนานกับพื้น และแผ่ฝ่ามือออก

 - เลี้ยวซ้าย คือ การยื่นแขนซ้ายออกไปด้านข้างให้สุดขนานกับพื้น และแผ่ฝ่ามือออก

 - หยุดหรือจอด ยกแขนขึ้นขนานกับพื้น พับแขนลงในลักษณะตั้งฉาก ขนานกับลำตัว แบมือหันฝ่ามือไปด้านหลัง

การมองข้ามไหล่ ก่อนเปลี่ยนเลนส์ ต้องมีความสามารถมองข้ามไหล่ ให้เป็น โดยที่ล้อตั้งตรง และมองเห็นรถคันหลัง

การขี่จักรยานที่ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอย่างเพียงพอ เช่น กระดิ่ง, ไฟหน้าแสงขาว, ไฟท้ายแสงแดง

การสวมใส่หมวกกันน็อค ที่มีมาตรฐาน และใส่สายรัดคางให้กระชับเสมอ

การสวมเสื้อผ้าสีสว่างสดใส เห็นแต่ไกล หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าสีเข้ม สีดำ เพราะผู้ขี่รถยนต์มองเห็นยาก

การเลือกซื้อจักรยาน ต้องเลือกขนาดที่สอดคล้องกับสรีระของผู้ขี่ จักรยานจะต้องประกอบด้วยชุดห้ามล้อที่มีประสิทธิภาพ เบาะนั่งที่มีขนาดพอดี ตัวถังแข็งแรงไม่มีรอยแตกหรือร้าว ยางและล้อ ที่หมุนได้อย่างคล่องตัว ไม่มีการเสียดสีตัวถัง เมื่อหมุน มีชุดขับเคลื่อนที่ทำงานได้อย่างแม่นยำ 

ผศ.ดร.จิรพล ฝากว่า ถึงแม้จะมีอุปกรณ์ครบ ก่อนการขี่จักรยานทุกครั้งก็ต้องมีการตรวจสอบด้วยเช่นกัน โดยการตรวจเช็คลมยาง เช็คเบรก ดูโซ่ และการหมุนของล้อต้องไม่ขูดกับส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวถัง ตะเกียบ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายต่อจักรยานได้ และที่สำคัญที่ลืมไม่ได้คือใส่หมวกกันน็อค ซึ่งเป็นตัวที่จะช่วยปกป้องส่วนที่แพงที่สุดของร่างกายเอาไว้ อย่าออกจากบ้านโดยไม่มีหมวกกันน็อคเด็ดขาด

วิธีตรวจความพร้อมก่อนใช้จักรยาน

A - AIR ลมยาง เช็คดูลมยางกดแล้วต้องแข็ง กดไม่ลง ถ้ากดแล้วลงไปได้เรื่อยๆ แสดงว่าลมอ่อนเกินไป ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง

B - Brake เบรค ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของห้ามล้อ ถ้าใช้ห้ามล้อหน้าเต็มที่ ขณะรถถูกเข็นไปข้างหน้า ล้อหลังจะยกสูงจากพื้น

ถ้าใช้ห้ามล้อหลังเต็มที่ ขณะรถถูกเข็นไปด้านหน้า ล้อหลังจะหยุดหมุน และถูกลากไปด้านหน้า

C - Chain โซ่ เช็คว่าหมุนได้คล่องตัวไหม หย่อนหรือตึงเกินไปหรือเปล่า ส่วนนี้ต้องดูให้ดี โซ่ต้องไม่ทิ้งหย่อนลังมาจนไปโดนตัวถังหรือตะเกียบหลัง เช็คดุมล้อว่ามีเสียงดังหรือไม่ ถ้ามีเสียงลูกปืนแตก หรือเสียงดังต้องระวัง

S - Spin ตรวจสอบการหมุนล้อ 1. ด้วยการยกให้ล้อหน้าลอยจากพื้น ใช้มือหมุนล้อจะต้องไม่แกว่งและต้องไม่มีเสียงดังของล้อที่หมุนโดยตะเกียบ หรือชุดห้ามล้อข้างใดข้างหนึ่ง 2. ยกให้ล้อหลังลอยจากพื้นใช้มือหมุนล้อ ล้อจะต้องไม่แกว่งและต้องไม่มีเสียงดังของล้อที่หมุนโดนจะถอยหลัง หรือชุดห้ามล้อข้างใดข้างหนึ่ง 3.ขณะหมุนล้อ หน้าและหลังจะต้องไม่มีเสียงดังจากดุมล้อทั้งหน้าและหลัง

"อยากจะเชิญชวนทุกคนที่อยากขี่จักรยาน รู้จักการขี่จักรยานที่ถูกต้องและปลอดภัย  โดยอาจจะเริ่มจากเข้ากลุ่ม เริ่มเรียนรู้ ก่อนที่จะออกมาถนนใหญ่ และหาโอกาสสอบใบขับขี่จักรยาน จะช่วยเพิ่มทักษะการขับขี่ การใช้เส้นทางร่วมกับผู้อื่นอย่างปลอดภัย เพราะเราจะเรียนรู้วิธีการป้องกันตนเอง เรียนรู้การสื่อสาร และการส่งสัญญาณนั่นเอง"

นอกจากจักรยานจะเป็นตัวช่วยในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมแล้ว ที่สำคัญการขี่จักรยานยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมชุมชนให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้นด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

สาระสุขภาพ-21 ธ.ค. 60

2017 12 21 3

การดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีนั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญ เพราะเมื่อไหร่ที่สุขภาพอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม ล้วนเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยา และที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ให้ความรู้ว่า ในร่างกายมนุษย์มีออร่าอยู่ 7 สี ที่เชื่อมโยงกับระบบสุขภาพ (หรือที่เรียกว่า ออร่านั่นเอง) ซึ่งเมื่อขาดสีใดสีหนึ่ง หรือมีสีนั้นน้อยเกินไปจะทำให้ระบบภายในร่างกายขาดความสมดุล ซึ่งหากอยากมีสุขภาพที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่ภายในร่างกายจึงจะส่งผลดีมาสู่ภายนอก 

ดร.วัลลภ อธิบายว่า ออร่าเป็นพลังมาจากแสงอาทิตย์ ที่ทำให้เกิดทั้งแสง สี และเสียง โดยมีคลื่นไฟฟ้า คลื่นความร้อน ที่ทำให้เราสามารถมองเห็นวัตถุเป็นสีต่างๆ แต่สำหรับร่างกายมนุษย์จะมีออร่าอยู่ภายใน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้เครื่องวัดเพื่อประมวลผล

สีของออร่าสามารถบอกถึงความสัมพันธ์ของร่างกาย จิตใจ และสุขภาพได้ แต่ไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยโรค ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 7 สี ดังนี้ 1.สีแดง 2.สีส้ม 3.สีเหลือง 4.สีเขียว 5.สีฟ้า 6.สีน้ำเงิน และ 7.สีม่วง

นักจิตวิทยา ยังบอกด้วยว่า ออร่าทั้ง 7 สี สามารถพบได้ในอาหารจากธรรมชาติ และสามารถเรียงลำดับความสัมพันธ์กับระบบภายในร่างกายได้ดังนี้

1.สีแดง หมายถึง ระบบที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศ ไม่ว่าจะเป็น มดลูก รังไข่ และต่อมลูกหมากสามารถพบได้ในผลไม้ เช่น มะเขือเทศ บีทรูท แตงโม พริก

2.สีส้ม เกี่ยวข้องกับท้องน้อย ลำไส้ และกระเพาะปัสวะ พบได้ใน แครอท ส้ม มะละกอสุก

3.สีเหลือง เกี่ยวข้องกับ ตับและกระเพาะอาหาร พบในกล้วย ข้าวโพด ฟักทอง มะม่วง

4.สีเขียว เกี่ยวข้องกับ หน้าอกและหัวใจพบในผักใบเขียว และผลไม้ทั่วไป

5.สีฟ้า เกี่ยวข้องกับลำคอ สามารถทดแทนได้ด้วยอาหารทะเล

6.สีน้ำเงิน เกี่ยวข้องกับใบหน้า พบได้ในอัญชัน 

7.สีม่วง เกี่ยวข้องกับระบบสมอง พบในมะเขือม่วง กะหล่ำม่วง มันสีม่วง เบอรี่ชนิดต่าง เป็นต้น

"ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมให้สุขภาพดีได้ด้วยการรู้จักกินอาหารที่มีประโยชน์จากธรรมชาติ โดยจะต้องกินอย่างสมดุลกันด้วย” ดร.วัลลภ แนะนำ

นอกจากนั้นหากต้องการมีสุขภาพที่ดีทั้งภายในและภายนอกพื้นฐานคือ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อารมณ์ดี หัดยิ้มให้กับตัวเองเป็นประจำทุกเช้า กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายสามารถช่วยกระตุ้นออร่าในร่างกายได้ดีเลยทีเดียว

สาระสุขภาพ-21 ธ.ค.60

2017 12 21 1

ลดพุง-ลดโรค เพราะการมีสุขภาพดี เริ่มต้นได้ง่ายๆ ที่มื้ออาหาร

มื้อเช้าอย่าให้ขาด

อาหารเข้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่กินอาหารเช้าน้ำตาลในเลือดจะต่ำลง สมองจึงสั่งให้กินมื้อกลางวันและมื้อเย็น ชดเชยในปริมาณมากกว่าปกติ จึงมีโอกาส ‘อ้วนลงพุง’ ได้ง่าย

ควรทานมื้อเช้าให้มาก มื้อกลางวัน และเย็นในปริมาณที่ลดลง

ใน 1 จานทานถูกส่วนต้องทานสูตร 2:1:1

2 ส่วน คือ ใยอาหาร เกลือแร่ วิตามิน ผัก ผลไม้ 1 ส่วนคือโปรตีน เนื้อปลา ไข่ขาว เนื้อไก่ เต้าหู้ขาว ถั่วแดง นมจืด นมถั่วเหลือง 1 ส่วน คาร์โบไฮเดรต ขนมปังโฮลวีท ข้างกล่อง ข้าวโอ๊ต

ลดผัด ลดทอด ลดไขมัน เลือก “ต้ม ยำ อบ นึ่ง ลวก ตุ๋น”

ไข่ไก่หนึ่งฟอง ปรุงต่างกัน พลังงานที่ได้รับต่างกันถึง 3.5 เท่า ไข่ต้มได้รับพลังงาน 70 กิโลแคลอรี่ ไข่ดาว 160 กิโลแคลอรี่ และไข่เจียว 250 กิโลแคลอรี่

ดื่มน้ำเปล่า ดีที่สุด

ปริมาณน้ำตาลนอกมื้ออาหาร ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา/วัน

น้ำผลไม้ 200 มล. มีน้ำตาล 6.25 ช้อนชา

กาแฟนสด 475 มล. มีน้ำตาล 10.5 ช้อนชา

น้ำอัดลม 450 มล. มีน้ำตาล 10.75 ช้อนชา

ชานมไข่มุก 350 มล. มีน้ำตาล 11.25 ช้อนชา

ชาเขียว 500 มล. มีน้ำตาล 14.5 ช้อนชา

นมเปรี้ยว 400 มล. มีน้ำตาล 19 ช้อนชา

ที่มา : คู่มือ ‘ลดพุง ลดโรค’ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สาระสุขภาพ-21 ธ.ค.60