Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c bhknqtwxz127

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนเครื่องกรองน้ำสกปรก เสี่ยงเป็นแหล่งสะสมโรค แนะล้างทำความสะอาดเครื่องกรองน้ำและเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนดเวลาในคู่มือของผลิตภัณฑ์

   นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงอากาศร้อน อาหารและน้ำเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทุกคนต้องใส่ใจและคำนึงถึงความสะอาด เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ โดยเฉพาะน้ำดื่มควรเป็นน้ำที่สะอาด เป็นไปตามมาตรฐานของน้ำดื่มประเภทนั้นๆ ซึ่งปัจจุบันประชาชนนิยมติดตั้งเครื่องกรองน้ำไว้ในบ้าน เพื่อกรองน้ำประปาสำหรับการบริโภคภายในครัวเรือนเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำบริโภค จากการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคจากแหล่งต่างๆของประเทศไทย พบว่า สาเหตุสำคัญที่น้ำบริโภคไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเกิดจากการปนเปื้อนของแบคทีเรียและมีหลายกรณีที่พบว่าน้ำที่ผ่านเครื่องกรองตรวจพบการปนเปื้อนของแบคทีเรีย สาเหตุสำคัญมาจากไม่มีการดูแลรักษาเครื่องกรองที่ถูกต้อง ดังนั้นหากบ้านใดที่ติดตั้งเครื่องกรองน้ำสำหรับบริโภคในครัวเรือน ควรศึกษารายละเอียดการดูแลรักษาเครื่องกรองน้ำจากคู่มือคำแนะนำที่ผู้ผลิตเครื่องกรองน้ำให้ไว้  หรือติดไว้ที่เครื่องกรองน้ำนั้น โดยเฉพาะการล้างและการเปลี่ยนไส้กรอง ควรทำอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จนนานเกินไปคุณภาพน้ำที่ผ่านการกรองอาจจะสกปรกมากกว่าน้ำที่ไม่ได้กรองและประสิทธิภาพของเครื่องกรองน้ำอาจจะลดลง น้ำที่กรองได้มีคุณภาพไม่เหมาะสมสำหรับการนำมาบริโภค อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้

   “การเลือกเครื่องกรองน้ำนั้น ควรเลือกเครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับคุณภาพน้ำที่ จะกรอง ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาไม่มากจนเกินไป ตัวเครื่องทำจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ไม่เป็นสนิมง่าย มีความปลอดภัย เหมาะสมกับการใช้กับอาหาร (food grade) นอกจากนั้นควรได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามที่ประเทศผู้ผลิตกำหนด และมีวิธีการบำรุงรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน  เมื่อนำมาใช้ต้องหมั่นทำความสะอาดไส้กรองและเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนดเวลาในคู่มือของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนั้นๆ เครื่องกรองน้ำเป็นเสมือนที่แยกเอา ความสกปรกออกจากน้ำ ยิ่งนานวันความสกปรกก็จะสะสมในเครื่องกรองมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีการล้างไส้กรองหรือเปลี่ยนไส้กรองแล้ว จะทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องกรองต่ำลง และเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

26 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c acdejlnopuxz

กรมสุขภาพจิต ยุค 4.0 นำหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติมาใช้ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ พัฒนามาตรฐานบริการผู้ป่วย   จิตเวชสู่ระดับสากล พบว่า ได้ผลดีมาก จัดยาครบสูตรไม่ผิดพลาด ไม่มีปัญหาปนเปื้อน รวดเร็ว ผู้ป่วยนอกได้รับยาภายใน 9 นาที  ผู้ป่วยในไม่ถึง 1 นาที จ่ายยาผ่านระบบวันละเกือบ 2,000 รายการ เตรียมต่อยอดนำระบบโดรนจัดส่งยาไปหอผู้ป่วยในแทนใช้คนเดิน พร้อมทั้งนำระบบคิวอัตโนมัติมาใช้ที่แผนกผู้ป่วยนอกแทนการเรียกชื่อคาดทดลองใช้ในปลายปีนี้

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เขตทวีวัฒนา กทม. หรือชื่อเดิมรพ.นิติจิตเวช เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2561 ว่า สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เป็นโรงพยาบาลจิตเวชที่เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อน ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และพื้นที่กทม.โซนตะวันตก 7 เขต คือ ทวีวัฒนา หนองแขม ตลิ่งชัน ภาษีเจริญ บางแค บางบอน บางพลัด ขณะนี้ได้พัฒนาระบบบริการสนองตามนโยบายคือบริการอย่างเป็นมิตร รู้สึกอบอุ่นเหมือนบ้าน ให้เกียรติและคุณค่าแก่ผู้ป่วย ดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยทั้งกายจิตใจ วิญญาณ และสังคมเสมือนเป็นสมาชิกครอบครัว

ประการสำคัญยังได้นำเทคโนโลยี มาพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชในยุค 4.0 ให้มีมาตรฐานในระดับสากล คือ     ใช้ระบบหุ่นยนต์จัดยาอัตโนมัติหรือสมาร์ท ฟาร์มาซี (Smart  Pharmacy) ใช้เต็มพื้นที่ทั้งแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน นับเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของกรมสุขภาพจิต เพิ่มความคล่องตัวระบบบริการ จ่ายยาครบสูตรและไม่ผิดพลาด โดยเฉลี่ยต่อวันมีผู้ป่วยจิตเวชตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก 280 คน แต่ละคนใช้ยาอย่างต่ำ 4 ชนิด เป็นเวลา 1-2 เดือน เมื่อนำระบบหุ่นยนต์จัดยาแทนคน สามารถจ่ายยาเร็วขึ้น ผู้ป่วยนอกจะได้รับยาภายใน 9 นาที จากเดิมต้องรอราว 30 นาที ส่วนผู้ป่วยในใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที  แก้ปัญหาผู้ป่วยแออัดได้เป็นอย่างดี ซึ่งกรมฯจะขยายผลใช้ที่รพ.จิตเวชอื่นๆ เช่น ที่รพ.ศรีธัญญา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รพ.สวนสราญรมย์ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นรพ.ใหญ่ขนาด 300 เตียงขึ้นไป        

ทางด้านนายแพทย์ศรุตพันธุ์  จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ติดตั้งระบบหุ่นยนต์จัดยาอัตโนมัติทั้งหมด 4 ตัวเป็นชนิดที่มีแขนกลรอรับยาเข้าซองแบบเบ็ดเสร็จและพิมพ์ฉลากยา ชื่อผู้ป่วย เวลากินยาเบ็ดเสร็จ ป้องกันปัญหายาปนเปื้อนได้เป็นอย่างดี ในการติดตั้งจะเชื่อมตรงจากระบบใบสั่งยาของแพทย์ทางคอมพิวเตอร์ที่ห้องตรวจโรคทุกห้อง เมื่อผู้ป่วยตรวจเสร็จสามารถรอรับยาได้เลย ขณะนี้เครื่องสามารถจ่ายยาได้ครอบคลุมรายการยาของสถาบันซึ่งมีกว่า200รายการได้กว่าร้อยละ 90 ซึ่งร้อยละ 95 เป็นยาเม็ด แคปซูล เริ่มบริการอย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า ได้ผลดี ไม่พบปัญหาจ่ายยาผิดพลาด โดยจ่ายยาตามใบสั่งยาให้ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในรวม 3,971 คน จำนวน 16,982 รายการ รวมยา 632,680 เม็ด สามารถบริหารจัดการสต็อคยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหายาหมดอายุหรือยาสูญหาย เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ห้องยา สามารถให้บริการแนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วยและญาติดีขึ้น

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังมีแผนพัฒนาต่อยอดอีก 2 เรื่อง คือ พัฒนาระบบการส่งยาทางอากาศจากห้องยาไปยัง หอผู้ป่วยโดยใช้โดรน (Drone) ตลอด 24 ชั่วโมงแทนการใช้คนเดิน เนื่องจากหอผู้ป่วยแต่ละหออยู่ห่างกัน และการนำระบบ  คิวอัตโนมัติมาใช้ที่แผนกผู้ป่วยนอกแทนการเรียกชื่อ ผู้ใช้บริการสามารถใช้เวลาช่วงรอคอยแพทย์ตรวจ ไปทำอย่างอื่นได้    เมื่อถึงคิวจะมีระบบเรียกเตือน คาดจะทดลองใช้ในปลายปีนี้ ขณะนี้ สถาบันฯได้ปรับสถานที่ภายในให้เอื้อต่อการพักผ่อนหย่อนใจ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ถีบจักรยานย้ำในสระน้ำตื้นๆ เพื่อให้โรงพยาบาลจิตเวชเป็นสถานที่สำหรับการผ่อนคลาย ไม่เฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจเท่านั้น ผู้รับบริการที่ปกติก็จะช่วยให้มีความสุขใจ ได้รับทั้งอาหารตาและอาหารใจ

26 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c fghlmprw1247

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย สร้างคนไทยฉลาด สุขภาพดี ต้องเริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา ย้ำ 2 ปีแรก หรือ 1,000 วันแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาทองที่สำคัญในการสร้างสมอง เน้น กิน กอด เล่น เล่า นอน เฝ้าดูฟัน ช่วยเด็กไทยพัฒนาการดี พร้อมเติบโตสมวัย แข็งแรง

           แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เด็กคืออนาคตที่สําคัญของประเทศที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ การสร้างคนไทยคุณภาพจึงต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา คือ ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงอายุ 2 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองของเด็กที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสมอง เพราะโครงสร้างสมองจะมีการพัฒนาสูงสุด ทั้งการสร้างเซลล์สมองและการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมองเกิดเป็นโครงข่ายใยประสาทนับล้านโครงข่าย และการที่เซลล์สมองมีการเชื่อมต่อกันทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างเซลล์อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ส่งผลต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีนอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมของสตรีก่อนตั้งครรภ์ระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดเป็นเรื่องสำคัญยังเป็นตัวกำหนดสุขภาพและโรคในอนาคตได้อีกด้วยก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 12 สัปดาห์กินวิตามินธาตุเหล็กและกรดโฟลิก สัปดาห์ละ 1 เม็ด รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่อุดมด้วยธาตุเหล็กและโฟเลทเช่น ตับ เนื้อสัตว์ ผักผลไม้เพื่อลดความเสี่ยงต่อความพิการแต่กำเนิดและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองและระบบประสาทของลูก ในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดไปจนกระทั่งเด็กอายุ 2 ปี ต้องให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ดีตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต คือ ช่วงที่อยู่ในท้องแม่ ช่วงเด็กอายุ 0-6 เดือน ช่วงเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี แม่ควรกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เช่น ปลา ตับ ไข่ ผัก ผลไม้ และนมสดรสจืด และกินวิตามินบำรุงที่มีไอโอดีน เหล็ก และโฟลิกทุกวัน เพราะหากขาดไอโอดีนลูกน้อยสมองพัฒนาไม่สมบูรณ์ไอคิวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดูแลฟัน ออกกำลังกาย นอนหลับวันละ 7-9 ชั่วโมงทุกวัน หลังจากนั้นจะต้องเลี้ยงดูและพัฒนาทักษะของเด็กโดยกระบวนการกระตุ้นผ่านกิจวัตรประจำวัน ในรูปแบบกิน กอด เล่น เล่านอน เฝ้าดูฟัน  

           แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่าสำหรับการกิน คือ แม่ควรให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัย เน้นข้าว เนื้อสัตว์สลับตับ ไข่ ผัก ผลไม้ในปริมาณเพียงพอสัดส่วนเหมาะสมอาหารตามวัยบดละเอียดไปหยาบจนถึงอายุ 2 ปีขึ้นไป เพราะนมแม่มีสารอาหารที่สำคัญสำหรับการพัฒนาสมองซึ่งไม่มีอาหารใดเทียบได้ เด็ก 1-3ปี กินอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ในปริมาณเพียงพอสัดส่วนเหมาะสมเน้นกินปลา ตับ ไข่ นมส่วนการกอด พ่อแม่ควรกอดลูกทุกวันเพื่อให้เด็กรับรู้ว่าพ่อแม่รักและหวังดีเสมอ การอบรมเด็กต้องทำด้วยความรัก ความเข้าใจและใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์บังคับ ฝืนใจ ไม่ดุด่าให้ลูกกลัวและเสียกำลังใจ คอยให้คำแนะนำ พูดชมเชยและให้รางวัลถ้าลูกทำได้ดี ซึ่งรางวัลสำหรับเด็กเล็กเพียงแค่กอด หอมแก้ม ตบมือให้ เท่านี้เด็กก็ภูมิใจแล้ว เล่น คือ ตั้งแต่แรกเกิดพ่อแม่ควรพูดคุย เล่นส่งเสียง ร้องเพลงกับเด็ก ช่วงแรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน ให้เลือกของเล่นที่มีเสียงและเป็นภาพ เด็กคว้าจับได้ อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี ให้เด็กได้นั่งเล่นของเล่น เช่น บล็อกตัวต่อนิ่มหรือลูกบอลเล็ก อายุ 2-3 ปี ให้เด็กเล่นรูปต่อเป็นภาพ หุ่นมือ ตุ๊กตา หรือกระโดดปีนป่าย และเมื่ออายุ 3-5 ปี ให้ลูกได้เล่นกับเด็กคนอื่น ใช้จินตนาการเกี่ยวกับการดำรงชีวิตเล่า คือ พ่อแม่สามารถเล่านิทานให้ลูกฟังได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือเมื่อเด็กอายุ 3 เดือนให้เริ่มเล่านิทานให้ฟังเป็นประจำทุกวันต่อเนื่องจนกระทั่งเด็กโต เลือกนิทานที่มีภาพน่ารัก รูปสัตว์ ใช้เสียงสูง ต่ำ หรือร้องเพลงประกอบขณะเล่า ควรเล่าให้จบเล่ม และเก็บหนังสือไว้ที่เดิมให้ลูกมองเห็นได้

         ทั้งนี้ เมื่อลูกเข้าสู่วัยเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอ“งต้องดูแลให้เด็กกินอาหารถูกหลักโภชนาการ จัดอาหารหลักให้เด็กกินให้ครบทั้ง 3 มื้อ ไม่เว้นมื้อใดมื้อหนึ่งโดยเฉพาะมื้อเช้า เพราะจะทำให้เด็กความจำดี พัฒนาสมอง และควรจัดอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายเด็ก โดยใน 1 วัน เด็กควรกินข้าว/แป้ง 8 ทัพพี ผัก 4 ทัพพี ผลไม้ 3 ส่วน เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าว นม 2 แก้ว ฝึกเด็กในการกินอาหารให้ตรงเวลา ไม่กินจุบจิบ ไม่กินขนมก่อนอาหารมื้อหลัก ส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายชนิดที่มีแรงกระแทกของข้อ เช่น กระโดดเชือก กระโดดยาง กระโดดตบ เล่นบาสเก็ตบอล โดยทำต่อเนื่องไม่น้อยกว่าครั้งละ 10-15 นาที ทุกวันๆ ละ 60 นาที หรือทำแบบสะสมเวลา ร่วมกับการนอนหลับสนิทอย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง ลดปัจจัยเอื้อที่เป็นอุปสรรคต่อการนอนหลับ เช่น ไม่เล่นเกมก่อนนอน ไม่วางโทรศัพท์ไว้บนที่นอน หรือไม่เปิดทีวีทิ้งไว้ในห้องนอน เพื่อให้นอนหลับสนิท ซึ่งจะส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth hormone) ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต การเพิ่มความสูง และควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้เป็นไปอย่างปกติ”แพทย์หญิงอัมพรกล่าว

          รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการส่งเสริมให้ลูกฉลาด แข็งแรง เติบโตสมวัยคือ การเฝ้าดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของลูกตั้งแต่ฟันซี่แรก เพราะหากเด็กมีปัญหาฟันผุจะสร้างความเจ็บปวด การติดเชื้อ และปัญหาการบดเคี้ยวอาหารส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก นอกจากนี้ การมีฟันผุหลายซี่ในปากมีความสัมพันธ์กับภาวะแคระแกร็นของเด็กและเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมากจะมีแนวโน้มว่าฟันแท้จะผุมากขึ้นเช่นกัน เมื่อไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โรคจะลุกลามและสูญเสียฟันในที่สุด และอาการเจ็บปวดอาจทำให้ต้องหยุดเรียน ส่งผลกระทบต่อการเรียนด้วย

23 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c aetvxy123467

ประมาณ1 ใน 3 ของการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กตลอดทั้งปี (จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข) พบว่าในช่วง 10 ที่ผ่านมา (ปี 2551-2560) เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมใหญ่เฉลี่ย 334 รายต่อปี ส่วนในปี 2560 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 708 ราย โดยเป็นการจมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมใหญ่ถึง 254 ราย และเด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 5-9 ปี

"นอกจากนี้ (ข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค) พบว่าสาเหตุการจมน้ำในช่วงปิดเทอมใหญ่ เนื่องจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง ดังนั้นเทศบาลนครตรัง จึงฝากความห่วงใย และฝากเตือนไปยังผู้ปกครอง ในช่วงปิดเทอมนี้ ให้ดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้ชวนไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้าน หรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคย เพื่อป้องกันเด็กจมน้ำเสียชีวิต และสำหรับเด็กที่ต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ รวมทั้งผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ต้องการลงเล่นน้ำคลายร้อน ควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย" นายเกรียงศักดิ์ กล่าว และว่า

ทั้งนี้ เมื่อพบคนตกน้ำ ต้องไม่กระโดดลงไปช่วย แม้จะว่ายน้ำเป็น เพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันได้ วิธีการช่วยให้ยึดหลัก 3 อย่างคือ 1. ตะโกน คือการเรียกให้คนมาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น 3. ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ เพื่อความปลอดภัย

23 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c chjkmnptvx34

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์แบคทีเรียรูปแบบผงและ แบบอัดเม็ดกำจัดลูกน้ำยุง ทดสอบแล้วสามารถกำจัดลูกน้ำยุงชนิดต่างๆ ได้แก่ ยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก และซิกา ยุงลายสวนพาหะนำโรคไข้ปวดข้อและชิคุนกุนยา ยุงก้นปล่องพาหะนำโรคมาลาเรียได้อย่างรวดเร็ว และไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตอื่น

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้ซิกา  โรคชิคุนกุนยา โรคมาลาเรีย เป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะโรคมาลาเรียนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา    ซึ่งแม่การะเกดแห่งบุพเพสันนิวาสได้แนะนำวิธีป้องกันโดยการปิดฝาภาชนะใส่น้ำต่างๆ เพื่อกันการเพาะพันธุ์ของยุงพาหะ และนอนกางมุ้งเพื่อป้องกันการถูกยุงกัด ส่วนในปัจจุบันพบว่ามีสถานการณ์การติดเชื้อมาลาเรียสูงบริเวณตามแนวชายแดน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ เป็นป่าเขาเหมาะแก่การเจริญเติบโตของยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย อันเกิดจากเชื้อพลาสโมเดียมชนิดต่างๆ  ซึ่งพบแพร่กระจายอยู่ในประชาชนบริเวณชายแดนที่มีการอพยพอยู่ตลอดเวลา โดยมีรายงานการดื้อยาของเชื้อนี้มาอย่างต่อเนื่อง  และล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าพบการดื้อยาของเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม ต่อยาอาร์ตีมิซินิน (Artemisinin) ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษามาลาเรียในพื้นที่ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เมียนมาร์, ลาว, เวียดนาม และกัมพูชา โดยเฉพาะที่บริเวณชายแดน  ไทย–กัมพูชานั้น มีรายงานว่าพบเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม ที่สามารถต้านยารักษามาลาเรียได้เกือบทุกชนิด เรียกว่า  “ซุปเปอร์มาลาเรีย” ซึ่งถ้าหากการดื้อยานี้แพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของภูมิภาค ก็จะทำให้การควบคุมและรักษาโรคมาลาเรีย เป็นไปได้ยากมากขึ้นและโรคไข้เลือดออก โรคซิกาจากยุงลาย เป็นต้น

          กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จึงได้ทำการศึกษาข้อมูลยุงพาหะนำโรคมาลาเรีย ทั้งด้านชนิด, การแพร่กระจาย, ความหนาแน่นในพื้นที่ชายแดน จัดทำเป็นฐานข้อมูลในลักษณะของแผนที่ GIS เพื่อเป็นข้อมูล ในการควบคุมยุง อีกทั้งยังได้ศึกษาพัฒนาวิธีการควบคุมทางชีววิธี ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุงรูปแบบผงและแบบอัดเม็ด    ซึ่งเป็นการนำสิ่งมีชีวิตมาควบคุมกำจัดลูกน้ำยุง โดยใช้แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงชนิด Bacillus thuringiensis var. israelensis (Bti) และ Bacillus sphaericus (Bsph) หลักการคือเมื่อลูกน้ำยุงกินแบคทีเรียเหล่านี้เข้าไป ผลึกโปรตีนที่อยู่ภายในเซลล์แบคทีเรีย จะก่อให้เกิดพิษกับลูกน้ำยุง พิษจะเข้าไปทำลายระบบทางเดินอาหารทำให้ลูกน้ำยุงตายอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญผลึกโปรตีนนี้สามารถสลายตัวไปเองตามธรรมชาติและไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิดนี้ ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถผลิตได้อย่างครบวงจร หรือสามารถติดต่อ   ขอซื้อได้จาก บริษัท ทีเอฟไอ. กรีนไบโอเทค จำกัด ชื่อผลิตภัณฑ์ “มอสแท็บ (Mostab)” โทรศัพท์ 032-371357-8 ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปผลิตเชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้โดยง่ายขึ้น

           “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการควบคุม ป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะ ดังนั้นระหว่างทำการสำรวจและเก็บข้อมูลก็ได้ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ชายแดนเกี่ยวกับยุงพาหะชนิดต่างๆ วิธีการป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัด การจัดการกับสภาพแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมทั้งแจกจ่ายผลิตภัณฑ์แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงอัดเม็ด  ที่ได้มีการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงชนิดต่างๆ ได้แก่ ยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออกและซิกา ยุงลายสวนพาหะนำโรคไข้ปวดข้อและชิคุนกุนยา ยุงก้นปล่องพาหะนำโรคมาลาเรีย รวมทั้งยุงรำคาญ ” นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติม

23 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.