Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c fghlmnrx2679

เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการพนันฟุตบอลออนไลน์ในเด็กและเยาวชน 11 องค์กรภาครัฐและเอกชนจัดเวทีเสวนาและพิธีลงนามความร่วมมือป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ระหว่างวันที่ 14 มิ.ย.-15 ก.ค.นี้ ที่ประเทศรัสเซีย ที่ห้องเมจิก 3 ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

          นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่ดูแลด้านเด็ก เยาวชน สื่อ และสุขภาพ เป็นห่วงปัญหาการเล่นพนันในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโดยเฉพาะฟุตบอลโลกที่ใกล้จะมาถึงนี้ในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตสูงที่สุด การพนันออนไลน์ที่เด็กและวัยรุ่นนิยมสูงที่สุดคือการทายผลฟุตบอลออนไลน์ ในรอบ 1 ปีระหว่าง พ.ศ.2558-2559 มีเว็บไซต์เล่นพนันออนไลน์มากถึง 213,000 เว็บ ทำให้เด็กและเยาวชนเป็น กลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหญ่ที่จะติดพนันเนื่องจากเข้าถึงง่ายและเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา เพียงมีอุปกรณ์ เช่นมือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ส่วนใหญ่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ยากต่อการควบคุม

          ขณะที่ผลสำรวจในปี 2558 มีคนไทยเล่นการพนันร้อยละ 52 หรือประมาณ 27.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักพนันวัยเด็กและเยาวชนประมาณ 3.1 ล้านคน โดยยอมรับว่าตนเองติดพนันประมาณ 207,000 คน

          "เมื่อสื่อออนไลน์เข้ามา ทำให้มีการพนันบอลกันเกือบทุกวัน เด็กและเยาวชนเริ่มมีพฤติกรรมการพนัน ต่ำสุดคืออายุ 7 ขวบ ส่งผลกระทบทั้งการเรียน ก่อหนี้สิน ไปถึงขั้นก่ออาชญากรรม มีปัญหาสุขภาพ มีความเครียด จากการวิเคราะห์ปัญหาในช่วงฟุตบอลยูโร 2559 เด็กที่เล่นพนันทายผลบอล มีหนี้สินเฉลี่ย 2,016 บาท ร้อยละ 21 เสียการเรียน ร้อยละ 11 เครียดมาก" นพ.กิตติศักดิ์กล่าว ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า สมัยนี้สามารถเล่นพนันได้ง่ายเนื่องจากมีการถ่ายทอดสดทางสมาร์ตโฟน บางแห่งมีกลไกการตลาดโดยให้วงเงินเล่นฟรี กลไกเหล่านี้ยังไม่มีผู้มาควบคุม ผลกระทบของการพนันบอลมีทุกวัย แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มที่ยังไม่มีงานทำ บางคนต้องไปปล้นจี้เนื่องจากติดพนับบอล หาทางออกไม่ได้ กฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องสร้างการตระหนักรู้ ครอบครัว โรงเรียน ต้องสนใจเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

          ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การติดพนันเหมือนสมองติด ยาเสพติด ผู้ที่ติดพนันมากที่สุดคืออายุ 16-20 ปี มีอัตราถึงร้อยละ 40.1 เนื่องจากวัยรุ่นอยากลองอยากรู้ ยิ่งเล่นยิ่งสนุก แต่จะส่งผลกระทบให้สมองเสียหาย เกิดโรคต่างๆ มากมาย วัยรุ่นยังหาเงินไม่ได้ ต้องขอผู้ปกครอง ต้องตั้งสติให้ดี มีทักษะคิดวิเคราะห์

          โค้ชเตี้ย นายสะสม พบประเสริฐ หัวหน้าผู้ฝึกสอน สโมสรแอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล เอฟซี เผยประสบการณ์ว่า ลูกศิษย์หลายคนติดการพนันบอล เริ่มจากการเล่นเพื่อความสนุก จาก 100 บาท เมื่อเล่นได้ก็ขยับเป็น 500 และ 1,000 บาท การเล่นพนันบอลเป็นเรื่องของอารมณ์ร่วม มีความท้าทาย เด็กที่รู้จักฟุตบอล รู้จักการเล่นเทคนิคต่างๆ พอมีการแข่งขันแล้วรู้สึกว่านอนไม่ได้ ต้องดูบอล ทำให้นอนเช้า ตื่นบ่ายมาซ้อมบอลในสภาพที่ไม่ค่อยสมบูรณ์

          "เราสามารถดูฟุตบอลให้สนุกด้วยการดูพัฒนา การของการแข่งขัน กติกาใหม่ หรือเสื้อผ้า รองเท้าที่ใช้ในการแข่งขัน ยุคนี้การพนันรุนแรงขึ้นจากการที่มีออนไลน์อยู่กับเราตลอด 24 ช.ม. จากประสบการณ์ไม่มีใครได้ดีเพราะการพนัน" โค้ชเตี้ยกล่าว

          นายปุณณพัทธ์ อรุณิชย์ตระกูล ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรารณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักในการดูฟุตบอลที่ถูกต้อง ไม่ให้เด็กเข้าถึงการพนัน มีผลสำรวจในเด็กและเยาวชนพบว่า ร้อยละ 57 เล่นอินเตอร์เน็ตมากกว่า 5 ช.ม. ระหว่างนั้นจะเห็นโฆษณาพนันบอล โดยร้อยละ 54  อยากลองเล่นเพื่อความสนุก ร้อยละ 69 เรียนรู้จากออนไลน์ซึ่งสอนการเล่นพนันทั้งหมด ขณะที่ร้อยละ 78 ทราบว่าการทายผลบอลเป็นการพนัน โดยร้อยละ 61 ได้รับผลกระทบด้านหนี้สินจากการพนันหรือทายผลบอลออนไลน์ รองลงมาเสียการเรียน มีปัญหาสุขภาพจิต ทะเลาะกับครอบครัว และอื่นๆ

          ขณะที่ นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจเยาวชนอายุ 16-18 ปี พบว่าร้อยละ 75.6 รู้จักการพนันออนไลน์ ร้อยละ 67.8 ไม่เคยเล่น ร้อยละ 17 เคยเล่น ขณะที่ร้อยละ 15.2 เล่นบางครั้ง

          "ร้อยละ 70 เห็นว่าการพนันออนไลน์เข้าถึงได้ง่าย ร้อยละ 84.14 เล่นพนันผ่านโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ โดยผู้คาดหวังว่าจะได้เงินจากการพนันมีจำนวนร้อยเปอร์เซ็นต์" นายพชรพรรษ์กล่าว

19 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c aefhoqstx368

จากกระแสโซเชี่ยลที่มีการเผยแพร่ข่าวประชาชนได้รับพิษปลากระเบนจนทำให้เกิดเนื้อตาย สร้างความตื่นตกใจให้กับผู้เลี้ยงมือใหม่ กรมประมงแจงเทคนิคการเลี้ยงและดูแลปลากระเบนทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ให้ถูกต้อง ปลอดภัย และเป็นไปตามระเบียบไซเตส

          นายชำนาญ พงษ์ศรี รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กระเบนน้ำจืดและน้ำเค็มจะมีพิษอยู่บริเวณปลายเงี่ยงหาง ภาษาคนเลี้ยงทั่วไปจะเรียก "เมือกพิษ" แต่ไม่ได้ร้ายแรงมาก เบื้องต้นคนที่ได้รับพิษจะมีอาการปวด แต่ไม่ต้องตกใจเพราะอาการปวดจะคล้ายกับที่เราโดนสัตว์มีพิษอื่นๆ ถ้าเทียบกับปลาก็เหมือนเงี่ยงปลาดุก ปลากด สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจะต้องสลายพิษออกไป จากร่างกายก่อน โดยผู้เลี้ยงปลากระเบนส่วนใหญ่จะใช้วิธีประคบร้อนบริเวณปากแผล โดยประคบไปเรื่อยๆจนกว่าอาการจะทุเลา บางรายจะใช้วิธีจุ่มแผลลงน้ำร้อนเท่าที่จะทนไหวทำไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีการใช้วิธีรีดพิษออกตรงจากแผลพิษปลากระเบนจะมีลักษณะเป็นเมือกสีคล้ำๆ ออกจากตัว หลังจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้วให้รักษาแผลแบบทั่วไปอาจจะใช้ยารักษาแผลสด และรักษาแผลให้แห้งอยู่เสมอ จะช่วยทำให้อาการจะดีขึ้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอาการแพ้ของแต่ละคน บางคนแพ้มากก็จะปวดหลายวันบางคนแพ้น้อยจะปวดประมาณ 1-2 วันก็ทุเลาลง ในบางรายที่แผลมีขนาดใหญ่ อาจจะเกิดเนื้อตายบริเวณแผลต้องปรึกษาแพทย์ ซึ่งเมื่อรักษาหายแล้วเนื้อจะขึ้นมาใหม่ทดแทนเนื้อที่ตายไป

          ด้านกฎหมายคุ้มครองปลากระเบน หลังจากที่คณะอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES) ได้ขึ้นทะเบียนปลากระเบนน้ำจืดอยู่บัญชีไซเตสหมายเลข 3 (Appendix III) กล่าวคือ เป็นปลาชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วขอความร่วมมือประเทศภาคีสมาชิกให้ช่วยดูแลการนำเข้า คือจะต้องมีหนังสือรับรองการส่งออก จากประเทศถิ่นกำเนิดปลากระเบน ดังนั้นการนำเข้า-ส่งออก หรือนำผ่าน จะต้องมีใบ Cites permit หรือ สป. 5

          นางอรุณี รอดลอย หัวหน้ากลุ่มวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ปลากระเบนน้ำจืดสกุล Potamotrygon spp. ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชีไซเตสหมายเลข 3 (Appendix III)

          ทางกรมประมงได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งให้เกษตรกร ที่ต้องการส่งออกไปต่างประเทศมาแจ้งการครอบครองกับทางกรมประมง (ภายใน 15 มีนาคม 2560) ซึ่งหลังจากที่แจ้งครอบครองเรียบร้อยแล้ว หากผู้ประกอบการ บางรายต้องการที่จะเพาะขยายพันธุ์ปลากระเบน จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่อยู่ในอนุสัญญาไซเตส ซึ่งทางกรมฯ จะให้ทางฟาร์มจดบันทึกจำนวนปลาในฟาร์มที่เพาะพันธุ์ได้และแจ้งให้ทางกรมฯ ทราบเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลประกอบการออกใบอนุญาต Cites permit หรือ สป. 5 ดังนั้นหากเกษตรกรขึ้น

          ทะเบียนถูกต้องก็จะสามารถส่งออกปลากลุ่มนี้ได้ โดยมาขออนุญาตส่งออกจากทางกรมประมง ทางเกษตรกร จะได้รับใบ Cites permit หรือ สป. 5 ก็จะสามารถส่งออกสัตว์น้ำที่อยู่ในอนุสัญญาไซตสได้ เช่นเดียวกันกับการนำเข้าสัตว์น้ำหรือปลาที่ขึ้นทะเบียน บัญชีไซเตสหมายเลข 3 ทางกรมประมงจะต้องดูใบ Cites permit จากประเทศ ต้นทาง เพื่อเป็นการช่วยกันดูแล และอนุรักษ์ สัตว์น้ำที่ถูกจัดอยู่ในบัญชีไซเตส ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม จนอาจสูญพันธุ์

          สุดท้ายอยากฝากถึงคนที่เลี้ยงปลากระเบน หากเผลอไปโดนกระเบนทิ่มเข้าผิวหนัง ไม่ต้องตกใจให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างที่แจ้งข้างต้น สำหรับบางรายที่มีอาการแพ้หนักและกังวลสามารถไปโรงพยาบาลเพื่อให้ทางแพทย์ช่วยดูแลไม่ให้แผลอักเสบหรือลุกลาม สำหรับผู้เลี้ยงปลากระเบนที่จะต้องให้อาหารหรือล้างตู้ปลาก็อาจจะมีการป้องกันไม่ให้โดนเงี่ยงปลาที่มีพิษที่บริเวณหาง ซึ่งผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จะนิยมตัดปลายเงี่ยงหางออก(ตรงส่วนปลายที่แหลม) หรืออาจจะใช้สายออกซิเจนตัดเป็นท่อนเล็กๆเสียบเข้าไปบริเวณเงี่ยงหาง เวลาที่ต้องให้อาหารปลา ดูแลปลาหรือรบกวนปลาในบ่อจะป้องกันการโดนเงี่ยงปลากระเบนได้

16 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c fhkmpvwyz159

จากกระแสของละครดัง ทำให้การ "กินหมากพลู" ของคนสูงอายุสมัยก่อน ถูกพูดถึงอีกครั้ง แม้ในปัจจุบันจะมีการยกเลิกการเคี้ยวหมาก ตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่คนในชนบทบางท้องถิ่นก็ยังคงนิยมเคี้ยวหมากกันอยู่บ้าง ถึงขั้นบางรายกินข้าวไม่ลง ถ้าไม่ได้กินหมากก่อน

ในอดีตวัฒนธรรมดังกล่าว เป็นทั้งสิ่งที่สร้างความสุขให้ผู้สูงวัย ขณะเดียวกันก็เป็นแฟชั่นอีกด้วย เพราะถ้าหากหนุ่มสาวคนไหนที่ฟันไม่ดำก็ถือว่าเชยเป็นอย่างมาก จึงทำให้วัยรุ่นและคนสูงอายุแข่งกันฟันดำ แม้ปัจจุบันการกินหมากพลูจะถูกยกเลิก หรือบริโภคกันในกลุ่มเล็กๆ แต่ถ้ามองในแง่ของเศรษฐกิจ ก็สามารถเพาะปลูกและส่งผลออก ใบพลู หมากสดหมากแห้ง เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับประเทศอยู่ไม่น้อย

ที่สำคัญมีข้อมูลระบุเกี่ยวกับประโยชน์ของการเคี้ยวหมาก เป็นต้นว่า "ใบพลูสด" นั้น แก้ปวดฟัน, แก้รำมะนาด, แก้กลิ่นปาก, ช่วยขับลมในลำไส้แก้ท้องอืด ทำให้กระปรี้กระเปร่า นอกจากนี้ "ปูนแดง" ก็สามารถช่วยแก้โรคบิด และอาการท้องเสียได้ ที่สำคัญในตัว "หมาก" และ "ใบพลู" ยังมีสารอัลคาร์ลอยด์ ที่เชื่อว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่น และเพิ่มการเต้นของหัวใจ อีกทั้งยังเพิ่มอุณหภูมิของผิวหนังในร่างกาย...

อย่างไรก็ดี โบราณว่าเมื่อมีประโยชน์ ก็ย่อมต้องมีโทษในตัวเองได้เช่นกัน เนื่องจากมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า การเคี้ยวหมากติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งในช่องปากได้เช่นกัน

ผศ.ทพ.วิจิตร ธรานนท์ ผู้อำนวยการ (ADTEC) ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง กล่าวว่า "จริงๆ แล้วการเคี้ยวหมากจะทำให้เหงือกอักเสบ และยังเป็นสาเหตุของโรครำมะนาดอีกด้วย และเป็นเคสที่หมอพบเป็นประจำ อันเนื่องมาจากการสีและขัดฟันบ่อยๆ ซึ่งนั่นจะทำให้ตัวฟันสะสมเชื้อแบคทีเรีย มีหินปูนเกาะ และเป็นผลให้เหงือกอักเสบ จากนั้นก็จะเกิดรำมะนาด ส่งผลให้ฟันโยกและหลุดไปในที่สุด นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งช่องปากได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่เคี้ยวหมากเป็นเวลานานๆ และทำให้เกิดแผลลึกในช่องปาก ผสมกับการระคายเคืองจากเส้นใยที่ใช้การกินหมากรวมถึงปูนแดง โดยสรุปการกินหมากไม่สามารถป้องกันได้ทั้งโรครำมะนาด และลดกลิ่นปากแต่อย่างไร แต่การลดกลิ่นในช่องปากของผู้สูงอายุ สามารถทำได้โดยการหมั่นไปพบแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อขูดหินปูน อีกทั้งต้องหมั่นแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน จึงจะสามารถป้องกันได้ เพราะจริงๆ แล้วการเคี้ยวหมากเป็นเพียงความสุขของผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งถ้างดได้ก็ควรงดจะดีที่สุด"

ที่กล่าวมาถือเป็นความรู้ดีๆ จากการเคี้ยวหมาก ที่อย่างไรเสียก็ถือเป็นวัฒนธรรมดีงาม ซึ่งควรบอกเล่าแก่ลูกหลาน ถึงรูปแบบของการต้อนรับขับสู้ ด้วยการยกเชี่ยนหมากออกมารอรับแขกเหรื่อที่มาเยี่ยมเรือนชาน ซึ่งแสดงออกถึงความมีมิตรจิตมิตรใจ ที่แม้ว่าเด็กยุคใหม่จะไม่นิยมรับประทานแล้วก็ตาม.

15 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c jlrsuvxy2569

พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ระบุว่า การตีอาจจะช่วยลดพฤติกรรมไม่ดีของเด็กให้เกิดขึ้นน้อยลง และมันก็หยุดเด็กที่ทำตัวไม่ดีได้รวดเร็วดี แต่ข้อไม่ดีก็คือ การตีเป็นการลงโทษที่ทำให้สัมพันธภาพของคนที่ตีและคนที่ถูกตีเสียไปได้ง่าย

ยิ่งเป็นการตีที่รุนแรง ใช้อารมณ์ มีคำพูดด่าทอดุว่ารุนแรงผสมเข้าไป ก็นอกจากเจ็บตัวแต่ทำให้เจ็บใจไปทุกฝ่าย และหมอก็คิดว่าคนที่ตี โดยมากไม่มีใครอยากจะตีเด็กหรอก

นอกจากนั้นการตีที่รุนแรง บ่อยครั้ง ตีโดยไม่รับฟังและไม่เห็นอกเห็นใจ ก็อาจจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าผู้ใหญ่ที่ตีเขา ไม่เข้าใจ ไม่รักเขาหรือเปล่า ถ้าเป็นนาน ๆ ก็จะทำให้เด็กรู้สึกขาดความเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจ นำไปสู่การมองตัวเองในแง่ลบ ไม่มั่นใจ สูญเสียคุณค่าในตัวเอง กลายเป็นคนอารมณ์ไม่มั่นคง อาจมีการใช้ความรุนแรงกับคนรอบข้าง เพราะเรียนรู้ซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว

คุณหมอบอกต่อว่า นอกเหนือจากการตีมีหลายวิธีที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ผิดถูก ใช้วิธีการปรับพฤติกรรมวิธีอื่นจะดีกว่าการตี เช่น การตัดสิทธิ์ที่ชอบ ตัวอย่าง ทำโทษการะเกดไม่ให้ไปเที่ยวที่ไหนเป็นเวลา 1 อาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่การะเกดชอบมาก ถ้าถูกลงโทษเช่นนี้คงไม่กล้าทำผิดไปอีกนานทีเดียว หรือ การให้ทำความดีชดเชย เช่น ให้ทำงานบ้าน(ควรเลือกเป็นงานที่น่าเบื่อและการะเกดไม่ชอบทำ) 2 อาทิตย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ หลักการในการปรับพฤติกรรมเด็กนั้นหากจะทำให้ได้ผลดี ต้องทำด้วยพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เด็กจะต่อต้านน้อยกว่า เชื่อฟังและมีความเกรงใจมากกว่า และต้องเริ่มทำตั้งแต่เด็กยังเล็ก สิ่งที่เด็กทำได้ดีก็ต้องชมเชยด้วย ใช่ว่าจะมองหาสิ่งที่เด็กทำผิดอย่างเดียวและผู้ใหญ่ต้องจัดการอารมณ์ให้ดี บางครั้งผู้ใหญ่ก็โกรธมากจนทำให้ปรับพฤติกรรมได้ไม่ดีเทำไหร่ เพราะความโกรธจนขาดสติ อย่าลืมว่า การปรับพฤติกรรมไม่ใช่การเอาชนะคะคานกัน

16 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c cfikmnqrtuy5

การพัฒนาองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพและยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญให้กับคนไทยทุกคน

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในโอกาสครบรอบ 66 ปี กรมอนามัย ว่า การพัฒนาองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพและยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญให้กับคนไทยทุกคน เพื่อการมีสุขภาพที่ดีสมวัยในทุกช่วงชีวิต ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) จึงเป็นตัวช่วยให้ประชาชนไทยรู้เท่าทันสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสาร และสุขภาพของตนเอง ด้วยการกลั่นกรอง ประเมิน และตัดสินใจ ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้อย่างเหมาะสม โดยอาศัยความรู้ ข้อมูลสุขภาพ และบริการสุขภาพ จากหลายช่องทางจนสามารถจัดการสุขภาพด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งจากการศึกษาวิจัยช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในกลุ่มประชากรที่มีความ รอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอมักมีความรู้ด้านสุขภาพที่จำกัด มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการใช้บริการรักษาพยาบาลโดยไม่จำเป็นในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มประชากรที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพที่เพียงพอ

นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2557 พบว่า ระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย ในกลุ่มอายุ 7 – 18 ปี อยู่ในระดับพอใช้ ร้อยละ 86.48 และระดับดีมาก ร้อยละ 5.25 หรือระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย เรื่อง 3 อ 2 ส ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป อยู่ในระดับไม่ดีพอ ร้อยละ 59.4 พอใช้ ร้อยละ 39.0 และระดับดีมากเพียง ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ประเทศสิงคโปร์ มีสัดส่วนประชากรที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับดีถึงร้อยละ 76 หรือในแถบยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์มีสัดส่วนประชากรที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับดีถึงร้อยละ 70

“ทั้งนี้ ปีที่ 66 ของกรมอนามัย จึงเน้นการดำเนินงานสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนผ่านประเด็นสื่อสารหลัก 66 ข้อ โดยผนึกกำลังกันระหว่างภาคสาธารณสุขและภาคการศึกษาในการพัฒนาบุคลากร ทั้งกลุ่มผู้บริหาร กลุ่มวิชาชีพ และบุคลากรระดับปฏิบัติการ ที่ใกล้ชิดกับประชาชนในระดับชุมชน เช่น กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) ผู้นำชุมชน และกลุ่มคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ในการพัฒนาชุมชนและองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ ศูนย์พัฒนาและรับรององค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ ( HLO Development and Accreditation Center) และเครื่องมือสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับประชาชนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป โดยอาศัยความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดขึ้น นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายของทั้งสององค์กร และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมรอบรู้ ด้านสุขภาพอย่างสมบูรณ์ต่อไป

สำหรับการจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 66 ปี กรมอนามัยได้จัดให้มี พิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติคนดีศรีอนามัย ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลคนดีศรีอนามัยดีเด่น จำนวน 6 คน และคนดีศรีอนามัยจำนวน 15 คน โดยการมอบรางวัลในครั้งนี้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่กรมอนามัยในการทำงาน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

15 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.