Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c bdfmqstuv568

เพื่อชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีความสุข หลายคนจึงอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองและคนในครอบครัวมากขึ้น แต่พอจะลงมือทำกลับติดกรอบความคิดว่าการรักษาสุขภาพเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร "เนสท์เล่"จัดแคมเปญ "ชีวิตดี ๆ เริ่มง่าย ๆ" เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ครอบครัวไทย ซึ่งเริ่มมีสุขภาพดีขึ้นได้ง่าย ๆ ด้วยการปฏิบัติตามหลัก 3 อ. คือ หันมาใส่ใจเรื่อง อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์

ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล แนะนำเคล็ดลับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ เพื่อสร้างนิสัย สะสมความสุขทางกายและใจ ชะลอวัย และล็อกสุขภาพดีให้อยู่ไปนาน ๆ

          เคล็ดลับเพื่อสุขภาพที่ดี ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร เผยว่า แค่สร้าง 4 นิสัย ง่าย ๆ เริ่มจาก นิสัย กินพอเพียง สามารถเลือกกินอาหารที่ดีและมีประโยชน์มากขึ้นได้ โดยยึดตามหลักการกินอย่างพอเพียง กิน "พอดี" คือ มีความหวานมันเค็มพอดี และมีความหลากหลาย กิน "พออิ่ม" คือการกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย และ กิน "พอสุข" เลือกกินอาหารที่ชอบ อร่อยและทำให้มีความสุข นอก จากนั้น ในหนึ่งวันควรกินผักผลไม้ให้ได้อย่างน้อย 400 กรัม อาจเริ่มง่าย ๆ จาก การสั่งอาหารที่มีผัก 1 กำมือต่อมื้อ กินผักให้ครบ 5 สี และกินผลไม้ 2-3 ชนิดต่อวันนิสัย...เลือกดื่มน้ำเปล่าทุกคนต่างมีเครื่องดื่มที่ตัวเองโปรดปราน เช่น น้ำอัดลม น้ำส้มคั้น น้ำหวาน จนบางครั้งลืมไปว่าเครื่องดื่มที่ดีที่สุดต่อร่างกายคือน้ำเปล่า จึงควรดื่มน้ำให้ได้ 8-10 แก้วต่อวัน และเริ่มต้นสร้างนิสัยลดการดื่มของหวานลง เช่น สั่งเครื่องดื่มที่ลดความหวานลง เพื่อลดปริมาณน้ำตาลที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย,นิสัย...ขยับให้เกินหมื่น   เวลา พูดถึงการออกกำลังกาย คนส่วนใหญ่มักบอกว่าไม่มีเวลา ดังนั้นควรเริ่มจากแค่การขยับร่างกายระหว่างวันให้มากขึ้น และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละนิด สะสมการขยับให้ได้ 150 นาทีใน 1 สัปดาห์ หรือเดินให้ได้ 10,000 ก้าวต่อวัน

          ปิดท้ายด้วย นิสัย พักผ่อนอย่างมี คุณภาพ การอดนอนมีผลต่อน้ำหนักตัว และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน และโรคหัวใจ ผู้ใหญ่จึงควรสร้างวินัย นอนให้ได้ 6-8 ชม.ต่อคืน โดยคุณภาพของการนอนนั้นสร้างได้จากการการนอนและตื่นให้เป็นเวลา เท่านี้เราก็จะสามารถตื่นมาด้วยอารมณ์ที่แจ่มใสพร้อม รับวันใหม่

3 พฤษภาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c admnruz14579

กระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รณรงค์ให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน โรงเรียน วัด ศาสนสถาน ป้องกันโรคไข้เลือดออกช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูร้อนสู่ฤดูฝน ย้ำโรงพยาบาลให้ความสำคัญผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง คำนึงถึงโรคไข้เลือดออก หากป่วยมีไข้สูงลอย 2 วันกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ให้ไปพบแพทย์

นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนสู่ฤดูฝน มีฝนตกชุกบางพื้นที่ จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงขึ้น ข้อมูลกรมควบคุมโรคในปีนี้ ตั้งแต่มกราคม – 21 เมษายน 2561 มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก 7,536 ราย เสียชีวิต 12 ราย อัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ รองลงมาคือภาคกลาง แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจะน้อยกว่า ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากกรมควบคุมโรคคาดว่าในปีนี้จะมีผู้ป่วยสูงกว่าปี 2560 จำเป็นต้องเร่งดำเนินการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงเรียนที่กำลังจะเปิดเทอม รวมทั้งจุดที่มักมองข้ามภายในบ้าน คือ แก้วน้ำ แจกันหน้าหิ้งพระ และศาลพระภูมิ ขอให้ล้างและเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ประชาชน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน โรงเรียน วัด ศาสนสถาน ซึ่งเป็นวิธีป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุด ใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน ทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย  รวมทั้งขอให้โรงพยาบาลทุกแห่งให้ความสำคัญกับการตรวจ วินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง ให้คำนึงถึงโรคไข้เลือดออกด้วย และดูแลทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ไม่ให้มียุงลายไปกัดผู้ป่วย

          นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5 - 8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอย อุณหภูมิ 38.5 – 40.0 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2 - 7 วัน อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หน้าแดง ปวดศีรษะ บางรายอาจมีปวดท้อง อาเจียน มีจุดแดงเล็ก ๆ ตามแขน ขา ลําตัว หากมีอาการไข้สูง 2 วันกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ขอให้รีบไปพบแพทย์ ในการดูแลในช่วงที่ป่วย ให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่บ่อย ๆ เช็ดตัวเพื่อลดไข้ รับประทานอาหารอ่อนๆ งดอาหารที่มีสีคล้ายเลือด และกินยาตามแพทย์สั่ง ห้ามกินยาแอสไพรินหรือไอบูโปรเฟน เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ที่สำคัญคือในช่วงไข้ลด ประมาณวันที่ 3-4 จะต้องเฝ้าระมัดระวังอาการอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดภาวะช็อคได้  สัญญาณอันตราย คือ ผู้ป่วยจะซึม อ่อนเพลียมาก กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น   ชีพจรเต้นเบา เร็ว ปวดท้องกะทันหัน กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลง เลือดกําเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดํา ขอให้รีบนําส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ให้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ลดการเสียชีวิต

1 พฤษภาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c aefhioqrv126

กรมควบคุมโรคเตือน พบแนวโน้มเด็กป่วย “โรคไอกรน” สูงขึ้น ห่วงส่วนใหญ่ติดเชื้อจากคนในครอบครัวที่ไม่แสดงอาการ

กรมควบคุมโรค ออกประกาศพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ประจำวันที่ 29 เม.ย.- 5 พ.ค. 2561 ระบุว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 26 เม.ย. 2561 มีรายงานโรคไอกรน 19 เหตุการณ์ พบผู้ป่วย 27 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 1 ปี (ร้อยละ 59.26) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 1 - 3 เดือน (ร้อยละ 40.74) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556 - 2560) มีรายงานผู้ป่วย 16 - 77 ราย เสียชีวิตปีละ 0 - 3 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงาน 4 เหตุการณ์ จากจังหวัดสงขลา ภูเก็ต นครพนม และ นครศรีธรรมราช

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดการณ์ว่า ในปีนี้จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไอกรนเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลการสอบสวนโรค พบว่าเด็กที่ป่วยด้วยโรคไอกรนส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสมาชิกในครอบครัวที่ไม่แสดงอาการป่วย ดังนั้น ผู้ที่มีอาการไอ จาม ไม่ควรคลุกคลีกับเด็กแรกเกิด หรือไม่ควรพาเด็กเล็กไปในสถานที่ชุมนุมชนหรือแออัด และหากพบเด็กแรกเกิดมีอาการไอแห้งเป็นชุดๆ ไอมาก หายใจไม่ทัน ให้รีบพาไปแพทย์ทันที

สำหรับโรคไอกรน เป็นโรคติดต่อที่มักพบในเด็กแรกเกิด ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อจากการไอ จาม ของบุคคลที่มีเชื้อโรคในร่างกายทั้งที่มีอาการป่วยหรือไม่แสดงอาการ โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีน ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานของท่านไปฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตามช่วงเวลาที่กำหนด (2 เดือน, 4 เดือน,6 เดือน, 1 ปีครึ่ง และ 4 ปี) สำหรับหญิงตั้งครรภ์สามารถปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับการเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคได้เช่นกัน

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีการป้องกันและควบคุมโรค ดังนี้ หากมีผู้ป่วยไอกรน ควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อผ่านน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ในผู้สัมผัสโรคควรสังเกตว่ามีอาการไอหรือไม่ ติดตามอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่สัมผัสโรคใกล้ชิด ควรไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ แม้จะได้รับวัคซีนป้องกันครบแล้วก็ตาม หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

30 เมษายน 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

 

newscms thaihealth c hioqrstvyz59

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะสถานพยาบาลขออนุมัติเผยแพร่โฆษณาหรือประกาศของสถานพยาบาลให้ถูกต้องตามกฎหมายทุกครั้ง ชี้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งประชาชน และสถานพยาบาล

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรม สนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการในด้านระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัยตามที่คาดหวัง โดยเฉพาะ การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านระบบบริการสุขภาพ จากภัยโฆษณาเกินจริงที่แอบแฝงมากับสื่อประเภทต่างๆ ซึ่งแต่เดิมการโฆษณาหรือประกาศของสถานพยาบาลมิต้องมีการขออนุมัติก่อนการเผยแพร่จึงอาจจะมีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ดังนั้น กรม สบส.จึงได้ออกประกาศ เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล”  โดยประกาศฉบับนี้ได้กำหนดให้การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบ ข้อความ เสียง หรือภาพ เพื่อการโฆษณาหรือประกาศอันเป็นประโยชน์ทางการค้าของสถานพยาบาล จะต้องขออนุมัติจากผู้อนุญาต คือ กรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อนจึงจะเผยแพร่ได้ ยกเว้นการแสดงซึ่งชื่อ สถานที่ตั้ง หรือการแสดงรายละเอียดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลกำหนดให้แสดง ณ สถานพยาบาลนั้นๆ ไม่ต้องขออนุมัติ ซึ่งการกำหนดให้ต้องขออนุมัติโฆษณาหรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลก่อนการเผยแพร่นั้น จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งประชาชนก็จะเกิดความมั่นใจในการบริการของสถานพยาบาลว่ามิได้มีการโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงแต่อย่างใด และสถานพยาบาลเองก็อุ่นใจได้ว่าการโฆษณาหรือประกาศของตนนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ปลอดปัญหาการฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ รวมทั้ง การที่มีคณะกรรมการฯร่วมพิจารณาอนุมัติเนื้อหาก่อนเผยแพร่จะช่วยให้การโฆษณาหรือประกาศฯ ถูกต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเป็นธรรมกับสถานพยาบาลที่กระทำถูกต้องตามกฎหมาย

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการกับผู้กระทำผิดในฐานโฆษณาสถานพยาบาลที่เข้าข่ายเป็นเท็จ หรือโอ้อวดเกินจริง หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในบริการนั้น แต่เดิมตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 จะมีบทลงโทษกับผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ ณ ปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศ  เพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับบริการจากสถานพยาบาล โดยใช้ข้อความ เสียง หรือภาพอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง  กฎหมายฉบับนี้ จึงครอบคลุมถึงประชาชนทุกคนเช่นเดียวกับผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จึงขอเตือนประชาชนทุกคนให้ระมัดระวังในการเผยแพร่ข้อมูลใดๆที่อาจเข้าข่ายการโฆษณาสถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการโอ้อวดหรือเป็นเท็จ อาทิสถานพยาบาลที่ตนรับบริการมีบริการที่เหนือกว่าแห่งอื่น และเห็นผลการรักษา 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือเน็ตไอดอลที่มักจะมีการโพสต์ หรือรีวิว สินค้าและบริการอยู่บ่อยครั้ง จึงอาจมีการกระทำที่เข้าข่ายการฝ่าฝืนกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้  ซึ่งการโฆษณา หรือประกาศข้อความ เสียง ภาพ เพื่อประโยชน์ทางการค้าของสถานพยาบาล ในลักษณะที่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการ ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเพิ่มอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับการโฆษณานั้น

ทั้งนี้ กรม สบส. ได้มีการจัดทำคู่มือการอนุญาตโฆษณา และหากผู้ใดต้องการรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการโฆษณาหรือประกาศของสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18832 หากอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ

1 พฤษภาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c acdgklmpuw36

สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตือน ช่วงที่อากาศแปรปรวน ระวังไข้เลือดออก ซึ่งพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี

สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งเตือนระวังโรคไข้เลือดออก เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน  ร้อน ฝนและหนาวในช่วงเวลาเดียวกัน  โดยโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี (Dengue) ซึ่งมีทั้งหมด 4  สายพันธุ์ มีพาหะนำโรคคือยุงลาย พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่พบมากในฤดูฝนตามการขยายพันธุ์ของยุงลาย อาการของโรคไข้เลือดออกอาการที่สำคัญแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน 2. ระยะช็อก ไข้จะเริ่มลดลง ซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว กรณีที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48  ชั่วโมง และ 3. ระยะพักฟื้น อาการต่างๆจะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลงปัสสาวะมากขึ้น อาจมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกตามลำตัว  ทั้งนี้ยังไม่มีวิธีรักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง การรักษามีเพียงรักษาตามอาการ และเฝ้าระวังภาวะช็อกและเลือดออกการให้สารน้ำอย่างเหมาะสมจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ รอการดำเนินของโรคจนกระทั่งผู้ป่วยฟื้นตัวและหายได้เอง  อย่างไรก็ตามหากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์โดยทันที

สำหรับการป้องกันนั้นสิ่งสำคัญ คือ การตัดวงจรการระบาดของโรคไข้เลือดออกด้วยการทำลายยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคได้แก่ 1. ควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ตรวจสอบละแวกบ้านอย่าให้มีที่น้ำขังให้ยุงวางไข่2. ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการนอนกางมุ้ง ใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว ใช้ยากันยุง3. ทำลายยุงและตัวอ่อน โดยการใช้สารเคมีฉีดพ่นยุงลาย ใส่ทรายอะเบทในบ่อน้ำ  ทั้งนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 7 ม.ค. – 21 เม.ย.61 พบว่า ผู้ป่วยสะสมของ กทม. จำนวน 1,819 ราย

27 เมษายน 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.