Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c fgnpvx245678

สมาคมจิตแพทย์เผย "ฆ่าตัวตาย" เป็นพฤติกรรมเลียนแบบ เป็นผลมาจากโรคซึมเศร้า แนะช่วยกันเฝ้าระวัง

นพ.ปราการ ถมยางกูร กรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศ กล่าวถึงกรณีการฆ่าตัวตายโดยใช้เตารมควัน 3 ศพ ซึ่งเป็นผลมาจากโรคซึมเศร้าว่า สถานการณ์โรคซึมเศร้าในไทยขณะนี้ แม้พบมากขึ้น แต่เป็นการพบในแง่ของการเข้าถึงการรักษา ที่มีผู้ป่วยเดินเข้าหาจิตแพทย์ แต่ยังไม่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยอัตราการป่วยโรคซึมเศร้าในไทยยังคงที่ประมาณ 1.5 ล้านคน และอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จยังคงพบในชายมากกว่าหญิงถึง 3 เท่า ขณะที่อัตราพยายามฆ่าตัวตายพบในหญิงมากกว่าชาย ส่วนวิธีการฆ่าตัวตายที่พบว่ารุนแรงมากขึ้น และพบวิธีแปลกใหม่ยังไม่ค่อยพบในบ้านเรา ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมเลียนแบบ หรือก๊อบบี้เคส ที่เลียนแบบพฤติกรรมการฆ่าตัวตายสำเร็จจากคนอื่น โดยชุดความจำหรือการเลียนแบบอาจมาจากการดูคนที่มีชื่อเสียงเค้าทำแล้วกระทำสำเร็จจึงเลียนแบบ

นพ.ปราการ กล่าวว่า ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยซึมเศร้าส่วนใหญ่มักมียีนส์ด้านความอดทนน้อยกว่าคนปกติ ประกอบกับสิ่งที่เผชิญตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่นที่เป็นเหตุและปัจจัยในการฆ่าตัวตาย ขณะเดียวกัน พบว่าสังคมที่เปลี่ยนไปทั้งภาวะเศรษฐกิจและการพูดคุยกันน้อยทำให้ป่วยซึมเศร้ามากขึ้น

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์กล่าวว่า การฆ่าตัวตายมีหลายสาเหตุกระตุ้น โรคซึมเศร้าก็เป็นส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ โรคซึมเศร้ามีปัจจัยหลายอย่างเช่น พันธุกรรม การมีความผิดปกติของสารเคมีในสมองบางตัว ความผิดหวัง ความเครียด จัดการกับปัญหาไม่ได้ ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คาดว่าใน 100 คน มี 3 คน ที่ป่วยซึมเศร้าในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่อาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ ส่วนหนึ่งรู้ตักจากที่เคยควบคุมอารมณ์ได้ แต่กลับทำได้ยากลำบากขึ้น รู้สึกกับคำพูด ความเครียดบางอย่างมากกว่าปกติ ทำให้เศร้าทั้งวัน วนเวียนแต่เรื่องนั้น ความรู้สึกนี้ส่วนใหญ่รู้ตัวแต่อาจจะรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

นพ.ณัฐกร กล่าวว่า คนที่เป็นจะมีช่วงที่มีอาการ อาจจะกินเวลา 2-3 เดือน คนรอบข้างอาจจะต้องมีความเข้าใจเรื่องการตอบสนองทางอารมณ์ที่อาจจะผิดแปลกไป แต่สิ่งที่อยากให้คนรอบข้างช่วยคือ พาไปพบแพทย์ และดูแลให้กินยาตามแพทย์สั่ง ซึ่งพบว่าสามารถรักษาให้หายขาด สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ

“คนที่คิดฆ่าตัวตายจะมีเวลาปลีกตัวออก หากคนรอบข้างรู้ว่าหากคนข้างตัวมีความคิดก็อย่าไปห่างไกลจากเขา ดูแลเอาใจใส่หากการมีคนอยู่เป็นเพื่อน ดูแลใกล้ชิดจะมีส่วนช่วยไม่ให้มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เรื่องวิธีการนั้นเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ก่อนหน้านี้อาจจะไม่พบบ่อยในเรื่องของการฆ่าตัวตายด้วยการรมควัน ก่อนหน้านี้มีพบบ้างในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ใต้หวัน เกาหลีใต้ แต่ยอมรับว่าในช่วงปลาย 60-61 เยอะกว่าที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่น่าสังเกตและเฝ้าระวังที่กรมต้องจับตาการฆ่าตัวตายด้วยวิธีดังกล่าว แต่ฝากการนำเสนอภาพของสื่อ ซึ่งคิดว่าคิดมากพอสมควร แต่บางอย่างเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องวิธีการมันก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบได้” นพ.ณัฐกร กล่าว

8 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c bekotv234579

กรมชลประทานเฝ้าระวังภาวะโลกร้อนส่งผลต่อคุณภาพน้ำ สั่งติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจในการใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำร่อง 4 อ่างฯ ก่อนขยายผลไปทั่วประเทศ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) หรือที่รับทราบกันว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนที่ไม่มีความแน่นอน ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การบริหารจัดการน้ำค่อนข้างยากขึ้น จะต้องมีการวางแผนรองรับอย่างรอบคอบแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำด้วย เช่น อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นทำให้น้ำระเหยเร็ว ค่าความเค็มของน้ำจะเพิ่มขึ้น หรือปริมาณน้ำฝนจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้คุณภาพของน้ำเปลี่ยนไปเช่นกัน ซึ่งอาจจะเหมาะสม หรือไม่เหมาะกับการปลูกพืชบางชนิด เป็นต้น กรมชลประทานจึงได้สั่งการให้ทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ความสำคัญต่อภาคการเกษตร โดยระยะแรกได้นำร่องดำเนินการในพื้นที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำนางรอง อ่างเก็บน้ำคลองมะนาว อ่างเก็บน้ำลำจังหัน และอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย จังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ ตลอดทั้งปี หลังจากนั้นจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ

นายธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า กรมชลประทานได้ทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตามแผนการส่งน้ำแก่เกษตรกรทุกฤดูกาลเป็นเวลา 2 ปี พบว่า น้ำมีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะกับการนำไปใช้ปลูกพืชแทบทุกชนิด รวมถึงการทำประมง สามารถนำไปใช้ได้ในทุกกิจกรรมทางชลประทาน แต่ปริมาณน้ำในอ่างฯ ทั้ง 4 มีค่าดัชนีชี้วัดที่ตรงกันคือ ค่าความเค็ม ที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ แต่ยังไม่มีผลต่อการเกษตรกรรม และ Climate Change ยังไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม หากวันหนึ่งสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อคุณภาพน้ำจากอ่างเก็บน้ำชลประทาน อาจมาในรูปแบบที่ไม่มีผลกระทบต่อการเกษตร แต่มีผลต่อการอุปโภค-บริโภค เช่น มีแร่ธาตุบางชนิดมากเกินไป หรือในรูปแบบอื่นๆ กรมชลประทานก็จะสามารถเตือนเกษตรกร และประชาชนได้ทันการณ์ ดังนั้น การติดตามเฝ้าระวังช่วยให้กรมชลประทานได้รับรู้สภาพน้ำและนำน้ำไปใช้อย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงจากความเสียหาย ประหยัดน้ำและงบประมาณ ทำให้การใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุด คือความปลอดภัยต่อน้ำดื่มน้ำใช้ที่ประชาชนใช้ในการอุปโภคบริโภค” นายธนา กล่าว

นอกจากนี้ การติดตามและเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบด้วยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ยังจะช่วยดูแลคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำตามยุทธศาสตร์ของกรมชลประทานได้เป็นอย่างดี ในอนาคตกรมชลประทานจะมีการพัฒนาเครื่องมือวัดค่าคุณภาพน้ำแบบหัวรวม ใช้อ่านค่าดัชนีที่สำคัญของน้ำในเบื้องต้น เหมาะกับนำไปใช้อ่านค่าคุณภาพน้ำแบบทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำสำคัญที่ต้องส่งน้ำให้กับพืชเศรษฐกิจ

สำหรับการติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำในพื้นที่ดังกล่าว จะขยายผลดำเนินงานในทุกภูมิภาคของประเทศ คาดว่าภูมิภาคต่อไปจะเป็นภาคตะวันออกของประเทศไทย

8 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c djkqrvw34578

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย กินอาหารที่มีโซเดียมมาก เสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองแตก และไตวาย แนะปรับพฤติกรรมการกิน ชิมก่อนปรุง ลดกินอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ลดเค็มลดเสี่ยงโรค

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบจากการกินเค็ม องค์กรเคลื่อนไหวเรื่องเกลือและสุขภาพ (World Action on Salt and Health หรือ WASH)  จึงกำหนดให้สัปดาห์หนึ่งในเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นช่วงเวลาการรณรงค์ (World salt awareness week) โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 12-18 มีนาคม ในประเด็น “5 หนทางสู่ 5 กรัม” ซึ่งหมายถึง 5 วิธีการสู่การบริโภคเกลือ  ไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน (เกลือ 1 ช้อนชามี 5 กรัม) และกรมอนามัยได้ดัดแปลงให้เหมาะกับวิถีไทยได้แก่ 1. เลือกกินผักผลไม้สดแทนผักผลไม้แปรรูป 2. ลดการปรุงเค็มลงเพื่อปรับการรับรส 3. ใช้เครื่องเทศแทนเครื่องปรุงรสเค็มในการปรุงอาหารให้กลมกล่อม 4. ฝึกนิสัยการไม่กินเค็มให้แก่เด็กโดยนำพวงเครื่องปรุงรสออกจากโต๊ะอาหาร  5. อ่านฉลากอาหารทุกครั้งก่อนซื้อ เพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันโดยเลือกผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นที่มีโซเดียม น้อยที่สุด นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เช่น ศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล รพ.สต. เป็นแม่ข่ายจัดสัปดาห์รณรงค์ลดการกินเค็มในทุกๆ ปี เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้เกิดความตระหนักและกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลดกินเค็ม ไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า องค์การนานาชาติหลายแห่ง เช่น International Federation of Kidney Foundationและ International Society of Nephrology ได้ร่วมกันกำหนดให้วันไตโลก  (World Kidney Day) คือทุกวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม โดยในประเทศไทยได้มีคำขวัญ คือ “สตรีไทย ไต Strong” เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มสตรีเห็นความสำคัญของการลดกินเค็ม ไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป เนื่องจากโซเดียมไม่เพียงแต่มีในอาหารเกือบทุกชนิดตามธรรมชาติ เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง แต่ยังมีอยู่มากในเครื่องปรุงรสและอาหารแปรรูป เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสหอยนางรม ผงชูรส  ไส้กรอก กุนเชียง อาหารหมักดอง รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารจำพวกขนมขบเคี้ยว ดังนั้นในชีวิตประจำวันแม้จะไม่ได้ปรุงอาหารเพิ่ม แต่ร่างกายก็ได้รับโซเดียมจากอาหารธรรมชาติแล้วประมาณ 600-800 มิลลิกรัม

“ทั้งนี้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ใน 1 วันร่างกายไม่ควรรับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเปรียบเทียบเป็นเกลือ 1 ช้อนชา หากได้รับมากเกินไปก็จะมีผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองแตก และไตวาย ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง  จะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิต การปรับพฤติกรรมการกินเป็นวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย และมีส่วนลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาโรคไตได้” รองอธิบดีกรมอนามัย  กล่าวในที่สุด

7 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c djklmprsuvw3

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้ระมัดระวังการถูกฟ้าผ่า โดยเฉพาะในช่วงอากาศแปรปรวนและมีฝนฟ้าคะนอง พร้อมแนะ 4 วิธีป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า เน้นให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งขณะฝนตกฟ้าคะนอง ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา หากพบเห็นผู้ถูกฟ้าผ่าให้โทรขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศแปรปรวน อากาศร้อนสลับฝนตก บางพื้นที่อาจมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดฟ้าผ่าขึ้นได้ ประชาชนจึงควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยข้อมูลที่ผ่านๆมา พบว่าผู้บาดเจ็บจากการถูกฟ้าผ่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก เยาวชน และเกษตรกรรม  สถานที่เกิดเหตุพบว่ากว่าร้อยละ 50 เป็นบริเวณนา ไร่ สวน  สำหรับช่วงเวลาเกิดเหตุสูงสุด คือช่วงบ่ายถึงเย็น เวลา 14.00-17.59 น. นอกจากนี้ พบว่ายังมีผู้ถูกฟ้าผ่าอีกหลายรายที่ไม่ได้เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนสาเหตุของการได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเกิดจากหัวใจหยุดเต้นด้วยกระแสไฟฟ้าแรงสูง ช็อกทันที แม้บางครั้งฟ้าผ่าไม่ถูกคน แต่ก็เป็นอันตรายได้หากอยู่ใกล้สิ่งที่ฟ้าผ่า กระแสไฟจากสิ่งที่ฟ้าผ่าอาจพุ่งเข้าสู่คนที่อยู่ใกล้ได้หลายทาง เช่น ผ่านเสื้อผ้าหรือตัวที่เปียก อุปกรณ์โลหะที่ใช้ทำงาน เป็นต้น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า การป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า มีดังนี้  1.หลีกเลี่ยงอยู่กลางแจ้ง ในขณะฝนตกฟ้าคะนอง หากจำเป็นควรนั่งยอง ย่อตัวให้ต่ำและชิดกับพื้นให้มากที่สุด แต่ไม่ควรนอนราบกับพื้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา เพราะฟ้าผ่าลงที่สูง  2.ควรหลบในตัวอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้ แต่ไม่ควรใช้โทรศัพท์ เปิดคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรืออยู่ใกล้ประตู หน้าต่างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะในขณะฟ้าร้องฟ้าผ่า  3.หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสื่อไฟฟ้าต่างๆ ทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้  และ 4.กรณีอยู่ในรถ ควรปิดกระจกทุกบาน หากฟ้าผ่าลงรถควรตั้งสติ ไม่ควรออกจากรถโดยเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าที่ไหลตามผิวโลหะของตัวถังรถจะไหลลงสู่พื้นดิน หากออกนอกรถจะมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าสูง ที่สำคัญอย่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ 

สำหรับการช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่าต้องช่วยอย่างรวดเร็ว โดยประเมินความปลอดภัยของที่เกิดเหตุ และโทรขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 โดยแจ้งข้อมูลผู้ถูกฟ้าผ่าและสถานที่เกิดเหตุ อาจเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากสถานที่โดนฟ้าผ่าไปยังที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

7 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c cdegklmop149

ชี้หญิงไทยรับควันบุหรี่มือสองในบ้านกว่า 8 ล้านคน ที่ทำงานกว่า 1.3 ล้านคน พบภาคใต้วิกฤตสุด ห่วงวัยรุ่นหญิงสูบเพิ่มขึ้น ด้านประธานราขวิทยาลัยสูติฯ ชี้ "บุหรี่" ทำลายสุขภาพผู้หญิงตลอดชีวิต ทำปวดประจำเดือนมากขึ้น มีลูกยาก อาการวัยทองมากขึ้น ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยลง ก่อมะเร็งปากมดลูกสูงทั้งที่ป้องกันได้ หน้าแก่ไว อายุขัยสั้นลง หมอรามาฯ ย้ำควันบุหรี่มือสอง มือสามอันตรายไม่ต่างจากสูบเอง

น. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในงานเสวนา "พิษของบุหรี่ต่อสตรี ยิ่งมีมากกว่าบุรุษ" ว่า แม้อัตราการสูบบุหรี่ของผู้หญิงไทยในปัจจุบันจะไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ชาย โดยอยู่ที่ 2.2% ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 40.5% แต่จากการสำรวจความชุกการสูบบุหรี่ของนักเรียนไทยอายุ 13-15 ปี พบว่า วัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 2% ในปี 2551 เป็น 5% ในปี 2558 ขณะที่นักเรียนชายยังคงที่อยู่ประมาณ 21% ถือเป็นสัญญาณอันตราย โดยประเด็นที่น่าห่วงคือเยาวชนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งมีแนวโน้มเยาวชนไทยสูบบุหรี่มากขึ้น เพราะมีหลักฐานการวิจัยจากต่างประเทศว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อมากลายไปสูบบุหรี่ธรรมดา โดยข้อมูลผลการสรวจการบริโภคยาสูบเยาวชนระดับโลก พบว่า เยาวชนอายุ 13-15 ปีของประเทศไทยปี 2558 มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 3.3 เป็นเยาวชนชายร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิง ร้อยละ 1.9 โดยมีความเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า นอกจากนี้ จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2557 ระบุว่า หญิงไทยจำนวนมากมีความรู้ไม่มากพอเรื่องอันตรายของการสูบบุหรี่ต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ โดยจากคำถามถึงการรับรู้ว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของมารดาคลอดทารกก่อนกำหนด 28-34 สัปดาห์ พบว่า มีคุณแม่ที่ไม่สูบบุหรี่เพียง 54.3% รู้ว่ามีอันตราย ส่วนคุณแม่ที่สูบบุหรี่มีเพียง 39.5% เท่านั้นที่รู้ว่าการสูบบุหรี่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ ขณะที่ผลการสำรวจการได้รับควันบุหรี่มือสองในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ของประเทศไทย พบว่า การรับควันบุหรี่มือสองภายในบ้านนั้น ผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 8.46 ล้านคน ผู้ชายราว 3.11 ล้านคน การรับควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน ผู้หญิงประมาณ 1.34 ล้านคน ผู้ชาย 1.24 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบรายภาคพบว่า การรับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ภาคใต้สูงสุด 2.2 ล้านคน อัตราอยู่ที่ 43.5% ภาคอีสาน 3.9 ล้านคน อัตรา 29% ภาคกลาง 2.7 ล้านคน อัตรา 27.6% ภาคเหนือ 2 ล้านคน อัตรา 25.9% และ กทม. 6 แสนคน อัตรา 13.2%

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่มีผลสุขภาพของสตรีตลอดชีวิต คือ 1.ระบบประจำเดือนและอนามัยเจริญพันธุ์ พบว่า จะทำให้ปวดประจำเดือนมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ มีบุตรยากทั้งระดับปฐมภูมิคือไม่เคยมีบุตรมาก่อน และตติยภูมิคือที่เคยมีบุตรมาแล้วก็มีได้ยากขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะประเทศไทยอัตราการเกิดน้อยลงคาดว่าปี 2560 น่าจะต่ำกว่า 7 แสนราย ซึ่งบุหรี่จะยิ่งซ้ำเติมเรื่องมีบุตรยากมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ยังทำให้อาการวัยทองมากขึ้นและรุนแรงขึ้น คือประจำเดือนหมดเร็วขึ้น บางส่วนมีอาการร้อนวูบวาบ ใจสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ โดยเป็นมากขึ้นและรุนแรงขึ้น ประจำเดือนหมดเร็วขึ้น

ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า 2.การตั้งครรภ์ การคลอด และทารก โดยน้ำหนักทารกแรกเกิดน้อยลง 200-250 กรัม น้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับอายุครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงการตายคลอด การตายของทารกหลังคลอด และการตายของทารกอย่างกะทันหัน รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากห่วงการสูบบุหรี่หรือไม่ ทำให้ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 3.ระบบหัวใจและหลอดเลือด พบว่า เสี่ยงหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองอุดตัน และเส้นเลือดสมองแตก เช่นเดียวกับผู้ชาย 4.โรคปอด ทั้งหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง 5.มะเร็ง คือ มะเร็งปอดที่มีผลโดยตรงอยู่แล้ว และมะเร็งอย่างอื่นที่จะพบมากขึ้นจากการสูบ เช่น มะเร็งปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต และมะเร็งปากมดลูก ทั้งที่เป็นมะเร็งที่คัดกรองได้เร็วกว่ามะเร็งอื่น ควบคุมได้ง่ายกว่า โดยคนสูบบุหรี่และติดเชื้อเอชพีวี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนไม่สูบ ดังนั้น การสูบบุหรี่น้อยลงจะช่วยในการควบคุมมะเร็งปากมดลูก นอกจากการใช้วัคซีนเอชพีวีด้วย

ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า 6.ความหนาแน่นของกระดูกน้อยลง ความเสี่ยงสะโพกหักมากขึ้น และ 7.สุขภาพอย่างอื่น เช่น พบภาวะซึมเศร้ามาขึ้น การอักเสบของปริทันต์ ถุงน้ำดีอักเสบมากขึ้น เป็นโรคกระเพาะมากขึ้น ต้อกระจก หน้าตาเหี่ยวย่นจาการทำลายคอลลาเจน และ อายุขัยสั้นลง ซึ่งจากการที่ตนเคยทำงานกับองค์การอนามัยโลก พบว่า ประเทศเดียวที่อายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย คือประเทศเนปาล ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้หญิงสูบบุหรี่สูงมาก จึงน่าจะมีควมสัมพันธ์ทำให้อายุขัยแตกต่างระหว่างหญิงชายน้อยลง สำหรับการดำเนินงานของราชวิทยาลัยฯ ในเรื่องนี้ คือ สูตินรีแพทย์ต้องมีการถาม หญิงตั้งครรภ์ว่ามีการสูบโดยตรงหรือรับควันบุหรี่โดยอ้อมหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสมุดฝากครรภ์ของกรมอนามัยก็จะมีคำถามเรื่องการสูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่มือสองหรือไม่ด้วย ซึ่งหากพบก็ให้คำแนะนำ และการป้องกัน เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์มีความรอบรู้ทางสุขภาพมากขึ้นว่าบุหรี่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากทั้งตนเองและทารกในครรภ์ และต้องประเมินว่าหญิงตั้งครรภ์มีความต้องการลดละเลิกสูบมากน้อยเพียงใด เพื่อจะช่วยให้ได้รับการดูแลรักษาลดเลิกบุหรี่

ด้าน พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร อาจารย์หน่วยโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากการทำคลินิกอดบุหรี่ รพ.รามาธิบดี พบว่า หญิงตั้งครรภ์มาฝากท้อง เมื่อซักประวัติพบว่าได้รับควันบุหรี่จากสามี แม้จะได้รับข้อมูลว่าบุหรี่นั้นไม่ดีต่อสุขภาทั้งตนเองและทารกในครรภ์ แต่ก็ยังคงได้รับควันบุหรี่จากสามีอยู่ดี ซึ่งก็พยายามให้ทางสามีมาอบรมเพื่อลดละเลิกบุหรี่ด้วยกัน แต่ก็สำเร็จยาก ทั้งนี้ อันตรายจากควันบุหรี่มือสองนั้นไม่ต่างจากการสูบบุหรี่โดยตรง เพราะมีสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 70 ชนิด โดยย้ำว่าไม่มีระดับต่ำสุดของควันบุรี่มือสองที่ไม่เป็นพิษ แม้แต่การสูดควันบุหรี่มือสองเพียงชั่วเวลาสั้นๆ ก็สามารถก่อห้เกิดปัญหาสุขภาพได้

พญ.นภารัตน์ กล่าวว่า สำหรับผลเสียการรับควันบุหรี่มือสองในเด็ก พบว่า เด็กติดเชื้อหูชั้นกลางบ่อยขึ้น เกิดอาการหืดเฉียบพลันบ่อยและรุนแรง มีการไอ จาม หอบเหนื่อย ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างมากขึ้น รวมถึงเสียชีวิตฉับพลันในทารกมากขึ้น ส่วนผู้ใหญ่ก็ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งปอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 เนื่องจากเมือปอดถูกทำลายจากบุหรี่จะมีการซ่อมแซมตัวใหม่ แต่เป็นการซ่อมแซมผิดปกติให้ก่อเซลล์มะเร็ง ยิ่งสูดดมนานมากก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น โรคเส้นเลือดสมองจะตีบแตกตันมากขึ้นได้ เป็นต้น และที่น่าห่วงอีกอย่างคือ "บุหรี่มือสาม" ที่ตกค้างตามพื้นผิวหรือของใช้ในบ้าน ซึ่งสามารถคงอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยสาเหล่านี้จะทำปฏิกิริยากับไนตรัสออกไซด์หรือโอโซนก่อให้เกิดสารพิษหรือสารก่อมะเร็งขึ้นได้ โดยสามารถรับได้จากการสูดดม หารสัมผัส หรือแม้แต่การดื่มกิน โดยการทำความสะอาดทั่วไปหรือขัดถูไม่สามารถดำจัดสารพิษตกค้างเหล่านี้ได้ทั้งหมด กลุ่มเสี่ยงมีทั้งเด็ก ผู้หญิง และสัตว์เลี้ยง โดยเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และแมว ถึง 2 เท่า ทั้งนี้ การปกป้องตัวเองคือ การเลิกบุหรี่ ไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ในบ้านหรือใกล้บ้าน ไม่สูบในรถแม้จะเปิดหน้าต่างรถก็ตาม เลือกร้านที่ไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่เลยในการไปรับประทานอาหารหรือสังสรรค์ สอนลูกหลานหลีกเลี่ยงห่างไกล กวดขันสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ และเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบต่อเด็กและเยาวชน

7 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.