Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c cfiklmqsuvy3

บางคนอาจเคยมีอาการปวดในหู โดยที่ไม่รู้สาเหตุหรือไม่? โดยจะต้องทนกับอาการทรมานเมื่อปวดหู ซึ่งโรคของหู เป็นได้ทั้งหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นในเมื่อใดที่มีความผิดปกติของหูเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพราะถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังหรือติดเชื้อได้ หรือถ้ารุนแรงอาจถึงขั้นต้องทำการผ่าตัด อย่าง “โรคหูชั้นกลางติดเชื้อ” ใครจะคาดคิดว่าเป็นโรคที่ต้องพึงระวังอย่างมาก

แพทย์หญิงนภัสถ์ ธนะมัยนายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้าน โสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อมูลว่า โรคหูติดเชื้อนั้นเป็นได้ทั้งหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน โดยโรคหูชั้นกลางติดเชื้อ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันคือ “หูน้ำหนวก” ผู้ที่เป็นโรคนี้ เริ่มต้นจะมีอาการปวดหูมาก อาจจะมีไข้ และต่อมามีน้ำหนองหรือน้ำข้นขุ่น ไหลออกจากหู อาการปวดหูทุเลาลง เนื่องจากหนองแตกทะลุเยื่อแห้วหูออกมาเปรียบเสมือนการระบายหนอง ผู้ป่วยอาจมีปัญหาทางการได้ยินบกพร่องได้

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหูติดเชื้อทั่วไป คือ 1.น้ำเข้าหู อาจจะมาจากการอาบน้ำหรือว่ายน้ำ 2.การได้รับบาดเจ็บในหูซึ่งเกิดจากการแคะหู หรือปั่นหูรุนแรงเกินไป 3.การมีสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เข้าไปในหู รวมทั้งการมีขี้หูอุดตันมากเกินไป 4.การเป็นหวัด เนื่องจากหูชั้นกลาง กับจมูกมีท่อที่เชื่อมกัน เรียกว่าท่อปรับความดัน ทำให้เวลาเราเป็นหวัด เชื้อโรคในจมูกผ่านเข้าสู่หูชั้นกลางได้

สังเกตอาการเบื้องต้นโรคหูติดเชื้อ คือ มีอาการปวดหู, มีน้ำหนอง หรือน้ำขุ่นๆ ไหลออกจากหู และประสิทธิภาพในการได้ยินลดลง เมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและป้องกันอาการที่รุนแรงมากขึ้นโดยความรุนแรงของโรคหูติดเชื้อนี้ อาจส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หรืออาจสูญเสียการได้ยิน หากการติดเชื้อจากหูชั้นกลางรุนแรงลามไปถึงหูชั้นในและไม่ได้ทำการรักษาที่ถูกต้อง อาจลุกลามเข้าสู่สมอง ทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรง จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ดังนั้น เมื่อสงสัยว่ามีการติดเชื้อของหู แนะนำมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าสาเหตุเป็นจากหูชั้นนอก หรือชั้นกลาง หรือชั้นใน โดยทั่วไปเมื่อมีการติดเชื้อของหูชั้นนอกหรือชั้นกลาง แพทย์จะจ่ายยาหยอดหู เพราะยาหยอดจะเข้าไปถึงบริเวณที่มีการติดเชื้อโดยตรง ทำให้การติดเชื้อทั้งในหูชั้นนอกและชั้นกลางหายสนิทได้ กรณีที่เป็นการติดเชื้อในหูชั้นกลาง หรือหูน้ำหนวก เมื่อหยอดยาจนแห้งสนิทดีแล้ว แพทย์อาจจะแนะนำการผ่าตัดเพื่อปิดเยื่อแก้วหูที่ทะลุ ซึ่งจะผ่าตัดด้วยการใช้กล้องขยาย หลังผ่าตัด จะมีผ้าและสำลีแพ็กไว้ในหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ทำให้การได้ยินยังไม่ปกติ ซึ่งแพทย์จะนัดมาเอาผ้าและสำลีออกให้หลังผ่าตัด2 สัปดาห์ ระหว่างนี้ควรระวังไม่ให้น้ำเข้าหู งดการแคะ หรือปั่นหู โดยแพทย์จะนัดตรวจอาการเป็นระยะๆ จนหายเป็นปกติ

ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพหู อย่างง่ายๆ คือ 1.ระวังไม่ให้น้ำเข้าหู ถ้าน้ำเข้าหูแล้ว ใช้ไม้พันสำลีเข้าไปซับได้ ไม่ปั่นหู 2.หลีกเลี่ยงการใช้ของแข็งแคะ หรือปั่นหูรุนแรง เพื่อลดอาการบาดเจ็บในรูหู ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อของหูชั้นนอกได้ 3.ดูแลความสะอาดภายในรูหู 4.เมื่อเป็นหวัดมีน้ำมูก ปวดหู ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดหูน้ำหนวก

6 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

 

newscms thaihealth c cehiosvwy269

กรมควบคุมโรค เผย 1 ใน 3 ของเด็กจมน้ำเสียชีวิตแต่ละปีเกิดในช่วงปิดเทอมใหญ่ เตือนผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด อย่าปล่อยให้ชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ภายใต้แนวคิด “บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม : พื้นที่เล่นปลอดภัย เด็กไม่จมน้ำ” เผย 1 ใน 3 ของเด็กจมน้ำเสียชีวิตแต่ละปีเกิดในช่วงปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) ส่วนปิดเทอมใหญ่ปี 2560 ที่ผ่านมา พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 254 ราย สาเหตุเกือบครึ่งเกิดจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่ม พร้อมเตือนผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด อย่าปล่อยให้ชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข  ได้กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ โดยในปี 2561 นี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม ซึ่งปีนี้ได้กำหนดหัวข้อที่ใช้ในการรณรงค์ คือ “บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม : พื้นที่เล่นปลอดภัย เด็กไม่จมน้ำ” โดยมีแนวคิดให้ครอบครัว(บ้าน) เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปลอดภัยทางน้ำ และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและชุมชนพึ่งตนเองได้

การจมน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อน 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด ประมาณ 1 ใน 3 ของการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กตลอดทั้งปี จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในช่วง 10 ที่ผ่านมา (ปี 2551-2560) เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมใหญ่เฉลี่ย 334 รายต่อปี  ส่วนในปี 2560 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 708 ราย โดยเป็นการจมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมใหญ่ถึง 254 ราย หรือร้อยละ 35.9  และเด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 5-9 ปี (ร้อยละ 48.4)

นอกจากนี้ ข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่าสาเหตุการจมน้ำในช่วงปิดเทอมใหญ่เนื่องจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง โดยในปีที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 42.1 ชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่มตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และพบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน 3 คน ถึง 4 เหตุการณ์ และ 2 คน ถึง 10 เหตุการณ์ พบมากที่สุดในจังหวัดพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุด คือช่วงกลางวัน เวลา 12.00–14.59 น.

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอเตือนผู้ปกครองว่าในช่วงนี้ให้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง และขอให้ทุกชุมชนดำเนินการดังนี้ 1.สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน  2.เฝ้าระวังและแจ้งเตือนในชุมชน เช่น ประกาศเสียงตามสาย คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง  3.จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง (ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้) และ 4.สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น 

ในโอกาสนี้ ขอฝากถึงประชาชน ผู้ปกครอง และเด็กๆ หากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669  2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ   หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 

5 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c acfjmoqsvw48

องค์การอนามัยโลกคัดเลือกไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดในไทยผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ ได้รับแจ้งจากองค์การอนามัยโลกว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/Singapore และสายพันธุ์ B/Phuket ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย ได้รับการคัดเลือกไปผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับประเทศซีกโลกใต้ ประจำปี 2561 ส่งผลให้คนไทยจะได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งมีศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติหรือห้องปฏิบัติการเครือข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ทำการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่และส่งข้อมูลให้องค์การอนามัยโลก เพื่อตัดสินใจว่าจะใช้เชื้อสายพันธุ์ใดผลิตวัคซีนในแต่ละปี ซึ่งการประชุมองค์การอนามัยโลก ณ กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียในปีนี้ ได้คัดเลือกสายพันธุ์ A/Michigan , A/Singapore และ B/Phuket นำไปผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับประเทศซีกโลกใต้ ประจำปี 2561 ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 2561 คนไทยจะได้ใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย เพราะในแต่ละปีไวรัสไข้หวัดใหญ่  จะมีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ในวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี โดยวัคซีนที่ทางกระทรวงสาธารณสุขฉีดให้กับประชาชน จะสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ 3 สายพันธุ์ แต่ถึงแม้ว่าสายพันธุ์วัคซีนจะไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ แต่วัคซีนก็ยังสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดภาวะแทรกซ้อน และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง

“อย่างไรก็ตามประชาชนจำเป็นต้องดูแลและป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยการหมั่นออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่เสี่ยงติดเชื้อ เช่น โรงพยาบาลหรือสถานที่ที่มีคนแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายได้โดยการหายใจรดกัน การไอและการจาม และที่สำคัญถ้าเป็นไข้แล้วมีอาการไอมาก หายใจติดขัดหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ควรรีบมาพบแพทย์ทันที”อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติม

5 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c afgklpsuwz25

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ พบความพิการในทารกแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แขนขาพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มอาการดาวน์ ตามลำดับ โดยความพิการแต่กำเนิดประมาณ 70% ป้องกันและรักษาให้หายขาดได้

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ได้ประสาน กรมอนามัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงานป้องกันดูแลและรักษาทารกและเด็กพิการแต่กำเนิดระดับประเทศ โดยผ่านความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการรวบรวมแผนงานในการดูแลรักษาปัญหาเด็กพิการ แต่กำเนิดของไทย เพื่อสร้างเครือข่ายสุขภาพทารกแรกเกิดและฐานข้อมูล ทราบถึงสภาพความเป็นจริงของปัญหาความพิการแต่กำเนิดในไทย สามารถต่อยอดพัฒนาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาภาวะพิการแต่กำเนิดได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

"วันที่ 3 มี.ค. ตรงกับวันเด็กพิการโลก โดยความสำคัญของวันดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนและผู้กำหนดนโยบาย ได้ตระหนักว่าความพิการแต่กำเนิดเป็นปัญหาที่รุนแรง เพราะอาจทำให้เด็กมีภาวะตั้งแต่พิการและรุนแรงสูงสุดถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นจึงต้องการกระตุ้นให้ประชาชนได้ตระหนักที่จะป้องกันโดยจะเน้นใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ทำให้ประชาชนได้ตระหนักว่าปัญหาเด็กพิการแต่กำเนิดเป็นปัญหาที่รุนแรง 2.สนับสนุนให้มีการสำรวจข้อมูลความพิการในทารกเพื่อให้รู้ถึงปัญหา 3.สนับสนุนให้มีการป้องกัน และ 4.การให้การรักษาร่วมกับการทำวิจัย”

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้สำรวจความพิการแต่กำเนิดในทารกทั่วโลกพบว่า มีทารกพิการแต่กำเนิด 3-5% หรือปีละประมาณ 8 ล้านคน จากทารกที่คลอดประมาณ 130 ล้านคนต่อปี โดยความพิการแต่กำเนิดแบ่งได้  เป็น 2 ส่วน คือ 1.ความพิการทางด้านโครงสร้างของร่างกาย เช่น คลอดออกมาแล้วเป็นโรคหัวใจ ปากแหว่งเพดานโหว่ แขนขาขาด และ 2.ความพิการของการทำงานในหน้าที่และภาวะร่างกาย เช่น มีภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่องหรือกลุ่มโรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภาวะพิการแต่กำเนิดถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้อง ได้รับการแก้ไข  และจากการที่ WHO รณรงค์ให้ทั่วโลกทำการเก็บข้อมูลความพิการแต่กำเนิด ซึ่งในส่วนของประเทศไทย

ฐานข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สปสช.เก็บข้อมูลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข77 จังหวัด มีการเปิดลงทะเบียนเด็กพิการแต่กำเนิดเพื่อดูว่ามีมากน้อยเพียงใด พบว่าในปี 2559 ที่ผ่านมาจากข้อมูลเด็กแรกเกิดที่มีชีวิตจำนวน 554,616 คน คิดเป็น 78.77% ของทารกแรกเกิดทั้งประเทศ พบภาวะพิการแต่กำเนิดของทารก 2.02% คิดเป็น 11,203.24 รายของเด็กเกิดมีชีพ มีทารกคลอดทั้งสิ้น 704,058 คน จำนวนเด็กเกิดมีชีพ 

ปี 2559

"ความพิการในทารกแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แขนขาพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มอาการดาวน์ ตามลำดับ ทั้งนี้ความพิการแต่กำเนิดปัจจุบันส่วนใหญ่ประมาณ 70% สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาด รวมถึงฟื้นฟูให้เด็กสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ มารดายังมีส่วนช่วยไม่ให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ด้วย การรับประทานโฟเลตในช่วงก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงการให้วัคซีนมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ และลดภาวะปัจจัยเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น"

5 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c aceiqty14567

ผอ.เขตบางพลัด แนะประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยและข้อปฏิบัติตน ขณะเกิดอัคคีภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่

นายวุฒิชัย บุญสิทธิ์ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด กล่าวว่า ด้วยระหว่างช่วงเดือน ธ.ค.-พ.ค. ของทุกปีเป็นช่วงฤดูแล้ง มีสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งและเหตุอัคคีภัย เขต จึงขอแนะนำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เตรียมการ ดังนี้

1.เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น

2.เตรียมการสำรองน้ำ รวมทั้งใช้น้ำอย่างประหยัดคุ้มค่า

3.ตรวจสอบการรั่วซึมของก๊อกน้ำ ท่อน้ำ ฝักบัว เครื่องซักผ้า ฯลฯ เพื่อซ่อมแซมแก้ไขให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์

4.การจุดธูปเทียนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะต้องใช้ความระมัดระวัง โดยต้องมีภาชนะที่ไม่ติดไฟและแข็งแรงรองรับ

5.ตรวจสอบสายไฟ/ปลั๊กไฟ รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ควรปิดสวิทช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติและเดินสายดิน ปิดวาล์วแก๊ส และถังแก๊สให้เรียบร้อย อีกทั้งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันและเครื่องดับเพลิงไว้ประจำบ้าน และหมั่นบำรุงรักษาให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ 

6.เขตได้มอบหมายให้ฝ่ายปกครอง ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเขตบางพลัด ออกประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเตรียมการสำรองน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัดคุ้มค่า รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยและข้อปฏิบัติตน ขณะเกิดอัคคีภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่

5 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.