Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c cktuvyz12678

กรมควบคุมโรค ชี้ช่วงเดือนมีนาคมนี้ อากาศของไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้สัตว์พาหะนำโรคต่างๆ เพิ่มจำนวนขึ้น รวมทั้งอาหารอาจบูดเสียได้เร็วยิ่งขึ้น อาหารปรุงสำเร็จ ควรอุ่นให้ร้อน เพื่อลดจำนวนสัตว์พาหะนำโรคและป้องกันไม่ให้มาสัมผัสอาหาร ลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค และการเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีการส่งต่อคลิปวีดีโอหนูวิ่งในร้านอาหารแห่งหนึ่ง นั้น อาจเนื่องมาจากช่วงนี้อุณหภูมิในประเทศไทยเริ่มสูงขึ้น สัตว์พาหะนำโรคต่างๆ ทั้ง แมลงสาบ แมลงวัน และหนู อาจเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าปกติ ขอให้ประชาชนระะวังโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อน

          ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 กุมภาพันธ์ 2561 พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษแล้ว 22,950 ราย ซึ่งการบริโภคอาหารที่ปรุงสุก ร้อนและสะอาด ถือเป็นวิธีการป้องกันที่สามารถทำได้ง่าย นอกจากนี้ควรจัดเก็บอาหารให้ปลอดภัยจากหนู แมลงพาหะต่างๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค ส่วนการลดปัญหาสัตว์ก่อกวนในสถานที่ปรุงประกอบอาหารนั้น เริ่มจากการดูแลสุขลักษณะที่ดี รวมถึงการจัดการขยะเปียก หรือ เศษอาหารที่ถูกต้อง ควรแยกขยะเปียก ออกจากขยะแห้ง เพื่อง่ายต่อการจัดการ ขยะเปียกและเศษอาหารต้องใส่ในถุงและปิดอย่างแน่นหนาและควรบรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดแข็งแรงอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันสัตว์มากัดแทะและยังป้องกันการเป็นแหล่งรังของแมลงวันได้ด้วย

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ช่วงนี้ อากาศของประเทศไทย จะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้อาหารอาจบูด เสียได้เร็วมากยิ่งขึ้น ขอให้ประชาชนสำรวจอาหารก่อนรับประทาน หากมีกลิ่น รส รูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหาร ควรใส่ใจเรื่องของสุขาภิบาลของร้าน และสุขลักษณะของผู้ประกอบอาหาร ในส่วนของร้านอาหารราดแกงควรอุ่นอาหารเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงของเชื้อแบคทีเรียที่อาจเกิดขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

5 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c abcehjvxy269

พบสถิติวัยรุ่นจำนวนมากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกแบบไม่ป้องกัน มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย จึงจัดโครงการ “อีกนิดพิชิตเอดส์” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเตือนภัยวัยรุ่นในเรื่องเอดส์

หลังจากพบสถิติการติดเชื้อเอชไอวีที่น่าเป็นห่วง จากรายงานสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 พบว่าร้อยละ 70 ของการแพร่เชื้อเอชไอวีเกิดขึ้นในคนอายุประมาณ 15-24 ปี และพบสถิติว่าวัยรุ่นจำนวนมากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกแบบไม่ป้องกัน มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย จึงจัดโครงการ “อีกนิดพิชิตเอดส์” ดึงพลังกลุ่มวัยรุ่นรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีน และผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเตือนภัยวัยรุ่นในเรื่องเอดส์

นางสาวเย็นจิต สมเพาะ ผู้อำนวยการมูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ในปี 2558 องค์การสหประชาชาติได้ประมาณการว่า ทั่วโลกมีผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีจำนวน 36.7 ล้านคน ซึ่งเป็นเด็กจำนวน 1.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จำนวน 35 ล้านคน

ข้อมูลประเทศไทยจากแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 โดย AIDS Epidemic Model (AEM) มีรายงานว่า เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์สะสม จำนวน 1,526,028 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,900 คน (เฉลี่ยติดเชื้อรายใหม่วันละ 19 คน) ผู้เสียชีวิตด้วยเอชไอวี 16,100 คน ในจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ทั้งหมด 437,700 คน แยกเป็นเพศหญิง 181,600 คน เพศชาย 256,100 คน แยกเป็นอายุ 15 ปีขึ้นไป 433,600 คน และอายุไม่เกิน 15 ปี 4,100 คน

ขณะที่ข้อมูลของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย รายงานเมื่อสิ้นปี 2559 ระบุว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 6,200 คน เฉลี่ยวันละ 17 คน ตลอดทั้งปีมีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตกว่า 15,000 คน เฉลี่ยวันละ 43 คน โดยเป็นกลุ่มชายรักชายมากที่สุด

ส่วนข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาและการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีบ่งชี้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวมาจากการเข้าถึงการตรวจรักษา การได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีเร็ว อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ารับบริการฝากครรภ์ และกลุ่มทหารเกณฑ์คัดเลือกใหม่เข้าประจำการ อายุ 20-24 ปี กลับมีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มเยาวชนที่มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคนและไม่ป้องกัน เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนติดเชื้อเอชไอวีและไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อของตนเอง

นายนพรุจ หมื่นแก้ว ประธานกลุ่มรักไทยพาวเวอร์ทีน เล่าถึงการจัดกิจกรรมลงพื้นที่มอบความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีว่า จากการลงพื้นที่ให้ความรู้กับเด็ก ๆ และเยาวชน ในเรื่องเพศศึกษา อนามัยเจริญพันธุ์ และเอชไอวี มานานถึง 12 ปี พบว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ได้รับเชื้อเอชไอวีเนื่องจากไม่มีความรู้ในเรื่องการป้องกัน และอายที่จะพกอุปกรณ์ป้องกัน จึงไม่ตระหนักและไม่เข้าใจในการป้องกัน ดังนั้นกลุ่มรักไทยพาวเวอร์ทีนจึงพยายามให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามถึงแม้กลุ่มรักไทยพาวเวอร์ทีนและองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ พยายามเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงเยาวชนได้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์

นอกจากปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีในวัยรุ่นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัญหาคือ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่ติดเชื้อและทารกเกิดมาพร้อมกับเชื้อเอชไอวี เนื่องจากมารดาไม่ตรวจร่างกายอย่างต่อเนื่องและไม่ทานยาต้านไวรัสเอชไอวี รวมถึงเกิดจากการที่วัยรุ่นโดนล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาที่ตามมา คือ วัยรุ่นเหล่านั้นขาดความรู้ที่เท่าทัน ไม่รับการรักษา ทำให้เด็กที่เกิดมาต้องรับการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีออกมาด้วย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านร่างกายและสภาพจิตใจของแม่และเด็ก

นางศรัญญา บุญเพ็ง ประธานมูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี เปิดเผยว่า ผู้หญิงที่ต้องอยู่กับเอชไอวีมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับการรักษาและคำแนะนำอย่างถูกต้อง รวมถึงกินยาต้านมานานแล้ว จึงทำให้พวกเขามีอายุอยู่ได้ยืนยาวขึ้น ส่วนกลุ่มที่เพิ่งติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ทางมูลนิธิมีหน้าที่เข้าไปคุยกับกลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และคู่ครองในเรื่องเอดส์ เรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ในผู้หญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังออกคลินิกสู่ชุมชนในการรับฝากครรภ์ และวิเคราะห์ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงเหล่านั้นและลูก จากการเข้าไปพูดคุย ได้ทราบปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ ผู้หญิงที่มีเชื้อเอชไอวีไม่กล้าบอกสามี และบางครั้งถูกสามีบังคับให้มีลูก รวมถึงการไม่ตรวจเอชไอวีก่อนการมีเพศสัมพันธ์และมีบุตร หรือตัวแม่เองได้รับการรักษาอย่างไม่ต่อเนื่อง บางครั้งเกิดจากการที่มูลนิธิต่าง ๆ ขาดงบประมาณและกำลังคนในการสนับสนุน นอกจากนั้นปัญหาเหล่านี้เกิดจากปัญหาทางด้านการสื่อสารระหว่างคู่รักและครอบครัว การโดนเลือกปฏิบัติที่ไม่สามารถเข้ารับสิทธิ์สวัสดิการที่ควรจะได้รับ รวมถึงในด้านการประกอบอาชีพ ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน

นางสาวชูใจ (นามสมมุติ) ที่ติดเชื้อเอชไอวีแต่กำเนิดเล่าว่า ในฐานะที่ตัวเองติดเชื้อเอชไอวีมาตั้งแต่เกิด เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เริ่มมีแฟนและทราบว่าตนเองท้องจึงรีบเข้าพบแพทย์ทันที เพราะกังวลว่าลูกจะติดเชื้อหรือไม่ จะดูแลอนาคตของลูกอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด แต่ด้วยความโชคดีที่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากคุณหมออย่างใกล้ชิด รวมถึงมีโอกาสได้เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มรักไทยพาวเวอร์ทีน ทำให้เห็นคุณค่าในตัวเองและมีความรู้ในการป้องกันตัวเอง รวมถึงป้องกันแฟนและลูกด้วย

“ในฐานะแกนนำกลุ่มรักษ์ไทยพาวเวอร์ทีน เราได้เห็นว่าวัยรุ่นกว่าครึ่งรับเชื้อเอชไอวีมาจากคู่รัก หรือบางส่วนถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งหากคนเหล่านั้นรู้เท่าทัน และเข้าถึงการรักษาได้อย่างถูกต้องก็จะทำให้พวกเค้าได้รับการเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ”

การติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นปัญหาที่หลายภาคส่วนเป็นห่วงและร่วมมือร่วมใจกันเพื่อทำให้ตัวเลขปัญหานี้ลดน้อยลงไป ซึ่งตัวเลขปัญหาเหล่านี้จะลดน้อยลงไปเมื่อทุกคนเป็นห่วงและใส่ใจดูแลตัวเอง ป้องกันทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

5 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c begijkmouw89

กระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลทุกแห่ง สำรวจจุดเสี่ยงและเร่งแก้ไข สร้างความปลอดภัยบุคลากรที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่รพ.นางรอง จะติดเหล็กดัด ประตูคีย์การ์ด กล้องวงจรปิดที่ชั้นล่างหอพักพยาบาล เพิ่มไฟส่องสว่างและการตรวจเวรยามของรปภ. เพิ่มความสูงรั้ว ขอความร่วมตำรวจเร่งรัดคดีความ

กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีมีคนร้ายเข้าไปทำร้ายพยาบาลที่หอพัก รพ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ว่า ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยน้องพยาบาลที่ได้รับบาดเจ็บ ได้ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทีมพยาบาลไปเยี่ยมให้กำลังใจ โดยกำชับให้ทีมแพทย์ดูแลรักษาบาดแผล และดูแลด้านจิตใจอย่างใกล้ชิด เร่งแก้ไขจุดเสี่ยงต่างๆ ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก และให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งรัดเรื่องคดีความ พร้อมทั้งกำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ดูแลสำรวจจุดเสี่ยงและเร่งแก้ไข เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของบุคลากรการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง

ในวันนี้ ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลนางรอง น้องพยาบาลได้รับการผ่าตัดรักษาบาดแผลเรียบร้อยแล้ว อาการปกติ ยังมีความวิตกกังวล ได้ให้พยาบาลด้านจิตวิทยาดูแลอย่างใกล้ชิด และจะให้ย้ายหอพักตามความต้องการต่อไป ทั้งนี้ โรงพยาบาลนางรอง ได้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ ดังนี้ 1.ติดเหล็กดัดและประตูคีย์การ์ด และเพิ่มกล้องวงจรปิดที่ชั้นล่างของหอพักพยาบาลและเจ้าหน้าที่ 2.เสริมความสูงของรั้วด้านที่ติดกับหอพักด้วยลวดหนาม 3.เพิ่มไฟส่องสว่างตามทางเดิน และ4.เพิ่มความถี่การเดินตรวจเวรยามของพนักงานรักษาความปลอดภัย

2 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c dgmpqtvwx459

กรมวิทย์ เผยองค์การอนามัยโลกเคาะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปี 61 ใช้สายพันธุ์ เอมิชิแกน สิงคโปร์ และบี ภูเก็ต

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งมีศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติหรือห้องปฏิบัติการเครือข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ทำการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่และส่งข้อมูลให้องค์การอนามัยโลก เพื่อตัดสินใจว่าจะใช้ เชื้อสายพันธุ์ใดผลิตวัคซีนในแต่ละปี ซึ่งการประชุมองค์การอนามัยโลก ที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียในปีนี้ ได้คัดเลือกสายพันธุ์ A/Michigan , A/Singapore และ B/Phuket นำไปผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับประเทศซีกโลกใต้ ประจำปี 2561 ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 2561 คนไทยจะได้ใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย

"แต่ละปีไวรัสไข้หวัดใหญ่ จะมีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ในวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี โดยวัคซีนที่ทางกระทรวงสาธารณสุขฉีดให้กับประชาชน จะสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ 3 สายพันธุ์ แต่ถึงแม้ว่าสายพันธุ์วัคซีนจะไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ แต่วัคซีนก็ยังสามารถ ช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดภาวะแทรกซ้อน และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง" นพ.สุขุม กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำเป็นต้องดูแลและป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยการหมั่นออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่เสี่ยงติดเชื้อ เช่น โรงพยาบาลหรือสถานที่ที่มีคนแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายได้โดยการหายใจรดกัน การไอและการจาม และที่สำคัญถ้าเป็นไข้แล้วมีอาการไอมาก หายใจติดขัด หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

2 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c dfgklmsuy137

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ เผยโรคฮีน๊อคเป็นกลุ่มอาการของการอักเสบของ         เส้นเลือดฝอย เป็นโรคที่พบมักในเด็กอายุประมาณ 2-11 ปี การเกิดโรคสันนิษฐานว่าอาจเกิดตามหลังการติด เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือยา ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด และไม่ใช่โรคติดต่อ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาพบเด็กป่วยเป็นโรคฮีน๊อค และมีการเผยแพร่ผ่านทาง Socail นั้น ในทางการแพทย์โรคฮีน๊อคไม่ใช่โรคติดต่อ อาการของโรคมักเริ่มจากผื่นแดง ไม่คัน เริ่มบริเวณขาทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน อาการร่วมอย่างอื่นได้แก่ ปวดข้อเท้า ผิวหนังบวมบริเวณที่มีผื่น โรคฮีน๊อคเป็นกลุ่มอาการแสดงของเส้นเลือดฝอยอักเสบ ซึ่งนอกจากเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังแล้ว อวัยวะภายในที่มักได้รับผลกระทบได้แก่ ทางเดินอาหาร ซึ่งผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดท้อง หรืออาจจะเป็นมากถึงมีอาการถ่ายเป็นเลือดและไตซึ่งอาจทำให้มีปัสสาวะเป็นเลือดหรือมีโปรตีนรั่วออกทางปัสสาวะได้

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขั้นตอนการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค หากมีเพียงผื่นผิวหนัง การรักษาหลักคือการนอนพักและงดกิจกรรม เช่น เดินมาก หรือวิ่ง กระโดด เป็นต้น หากมีอาการทางระบบอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง หรือปัสสาวะผิดปกติ ต้องรักษาแบบคนไข้ใน โดยให้ยาลดการอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ระยะสั้นเพื่อลดการอักเสบของเส้นเลือดสำหรับการป้องกัน เนื่องจากสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด จึงไม่มีวิธีป้องกัน ดังนั้นผู้ปกครองควรสังเกตหากลูกมีผื่นแดงลักษณะดังกล่าวและเป็นมากขึ้นหรือมีอาการต้องสงสัยควรรีบพบแพทย์เพื่อการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเป็นปกติแต่มีบางส่วนที่อาการโรคกลับเป็นซ้ำ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค และการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับ  การแนะนำว่าในช่วงแรกที่มีอาการต้องให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงกิจกรรมเดินมาก หรือวิ่งและมีการติดตามดูอาการอย่างต่อเนื่องเป็นปี เพื่อผลการรักษาที่ดีและลดการเป็นซ้ำของโรค

2 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.