Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c bcdefhijqv23

ในปี 2561 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุสูงถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดและมากกว่าประชากรเด็ก โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มากถึง 11,770,000 คน และประชากรผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) จำนวน 7,919,000 คน (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2561)

ผศ.พญ.จิตติมา บุญเกิด ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลให้ข้อมูลว่า การที่สูงอายุมากขึ้นทำให้มีปัญหาต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพกาย ซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามธรรมชาติของร่างกาย และโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งปัญหาด้านสุขภาพกายที่พบบ่อยในผู้สูงอายุก็คือ “การหกล้ม”จากการเก็บข้อมูล พบว่าการหกล้มในผู้สูงอายุเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557) ซึ่งผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะหกล้มร้อยละ 30 และผู้สูงอายุเกิน 80 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงมากถึงร้อยละ 50 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากเลยทีเดียว

          สาเหตุของโรค มีดังนี้ปัจจัยภายใน ปัญหาด้านร่างกาย ความเสื่อมตามธรรมชาตินี้เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งชายและหญิง โดยพบว่า การเดิน การทรงตัวของผู้สูงอายุจะช้าลงเวลาเดินอาจจะเซได้ เพราะกระดูกของผู้สูงอายุเริ่มบาง ข้อเริ่มเสื่อม ขาอ่อนแรง ซึ่งความเสื่อมนี้จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสภาพความแข็งแรงของแต่ละคน ใครที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ดูแลสุขภาพเป็นประจำ ก็จะเสื่อมช้าลงกว่าคนอื่น ปัญหาด้านสายตา ผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม หากได้รับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่แรก ก็สามารถรักษาให้หายหรือประคับประคองไม่ให้สายตาแย่ลงไปกว่านี้ได้ โรคเรื้อรังต่างๆ ถ้ามีอาการเจ็บป่วยควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่าตนเองมีโรคเรื้อรัง หรือโรคแทรกซ้อนหรือไม่อย่างไร  การกินยา หากผู้สูงอายุกินยาเกิน 4 ชนิด ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ยามีปฏิกิริยาต่อกันและมีโอกาสที่จะหกล้มได้ปัจจัยภายนอก  แสงสว่าง หากแสงภายในบ้านสว่างไม่เพียงพอ ก็มีความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะหกล้มได้ ภายในบ้าน ไม่ควรมีพื้นต่างระดับมากเกินไป พื้นควรเรียบเสมอกันตลอดทั้งบ้าน พื้นลื่น เป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุหกล้มได้ การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการหกล้มได้ เช่น การใส่รองเท้าส้นสูง ควรหารองเท้าที่เหมาะสม สวมใส่สบาย และพื้นไม่ลื่น

          ผลกระทบของการหกล้ม เมื่อผู้สูงอายุหกล้มแล้ว จะเกิดผลต่างๆ ดังนี้

@ เกิดการบาดเจ็บ เช่น กระดูกหัก เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง แผลฟกช้ำ เนื้อเยื่อฉีกขาด ส่งผลให้การเคลื่อนไหว รวมทั้งการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำได้น้อยลงหรือไม่เหมือนเดิม

@ ทางจิตใจ ผู้สูงอายุจะเกิดความไม่มั่นใจในการเดิน เกิดภาวะกลัวการเคลื่อนไหว หากเป็นเช่นนี้นานๆ จะส่งผลต่อจิตใจมากขึ้น และส่งผลต่อระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายให้เสื่อมถอยลงไปอีก เช่น การทรงตัวแย่ลง กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น เป็นต้น

@ ทางสังคม ญาติหรือคนดูแลต้องมีเวลาในการดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น ให้ความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงขึ้น

หากหกล้มแล้ว ควรดูแลตนเองอย่างไร  บอกให้แพทย์ประจำตัวทราบ เพื่อจะได้หาสาเหตุว่าการหกล้มนั้นเกิดจากอะไร อย่าปล่อยไว้นานจนไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ถ้าปล่อยให้ตามองไม่ชัดจนกลายเป็นต้อหิน ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือถ้าเป็นปัญหาจากการกินยา ก็ควรได้รับการแก้ไข เพื่อลดการนอนในโรงพยาบาลให้น้อยลง  ให้กำลังใจตัวเอง เพื่อจะได้มีแรงต่อสู้กับโรคร้ายต่อไป   กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ จะช่วยฟื้นฟูร่างกายได้ทางหนึ่ง  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ฝึกการทรงตัว ฝึกการใช้กำลังส่วนต้นขา จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น  หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการล้ม เช่น ไม่เดินไปในที่ที่มีแสงสว่างไม่แพงพอ พื้นลื่น

ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน จัดไฟให้สว่างเพียงพอ และทำพื้นห้องน้ำไม่ให้ลื่น  เลือกสวมใส่รองเท้าที่สบาย ส้นเตี้ย และพื้นไม่ลื่น  หากแพทย์แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ในการช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า วอล์กเกอร์ก็ควรใช้ เพราะจะช่วยป้องกันการหกล้มได้ทางหนึ่ง

          การป้องกัน 1. ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็กดูว่าเรามีความเสี่ยงที่จะหกล้มมากน้อยเพียงใด เช่น สายตาสามารถมองเห็นชัดเจนดีหรือไม่ การทรงตัว การเดินเป็นอย่างไร กระดูกเริ่มบางหรือยัง ปัจจุบันกินยากี่ชนิด เพราะยาบางชนิดมีผลข้างเคียง กินแล้วอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่า ยาที่ได้รับเป็นเหตุทำให้ล้มได้หรือไม่2. กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ผักใบเขียว ปลาต่างๆ นม เต้าหู้ ไข่ ถั่ว งาดำ เป็นต้น 3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อฝึกความแข็งแรงของร่างกาย  4. ทุกครั้งที่ลุกนั่งหรือยืน ควรเปลี่ยนอิริยาบถอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันอาการหน้ามืด และเวียนศีรษะ 5. ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในตอนต่อไป

2 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.