Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c cgijortvxyz7

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เผย วัคซีน 4 สายพันธุ์ พร้อมฉีด!! แนะกลุ่มเสี่ยง" เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ" ให้ฉีดปีละครั้งลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ อาจารย์พิเศษ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "คมชัดลึกออนไลน์" ว่า โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีมานานแล้ว มีหลากหลายสายพันธุ์ และมีการสลับเปลี่ยนแปลงเชื้อไวรัสในแต่ละฤดูกาลของแต่ละปี ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เพราะโดยธรรมชาติเชื้อไวรัสต้องการความอยู่รอด และหากไปติดในคน สัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันดี เชื้อไวรัสจะอยู่ไม่ได้และสูญพันธ์ุในที่สุด ดังนั้นเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่จึงกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ 

อย่างไรก็ตามหากผู้ใดติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แล้วจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ง่าย ซึ่งเกิดขึ้นได้ ทุกเพศ ทุกช่วงอายุ และสามารถแพร่เชื้อทางระบบทางเดินหายใจ โดยละออง เสมหะ จากผู้ป่วยไอ หรือจาม ไปยังผู้ที่อยู่ใกล้เคียง โดยมากมักพบอัตราการติดเชื้อสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุต่ำกว่า 5 ปี

"ส่วนเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว อาจเกิดอาการป่วยรุนแรงมากขึ้น มีโรคแทรกซ้อนจนต้องมาตรวจรักษาจากแพทย์หรือโรคมีความรุนแรงจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ อาจเสียชีวิตหากได้รับการรักษาไม่ถูกต้องหรือทันเวลา"นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แนะนำว่าให้ฉีดวัดซีนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นหญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว อาทิ โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน รวมไปถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลกลุ่มเสี่ยง เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ และผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยเหล่านี้

ทั้งนี้ ในประเทศไทย แพทย์ให้ความสนใจโรคไข้หวัดใหญ่เป็นพิเศษ เพราะสามารถติดเชื้อไวรัสได้ทั้งปี แต่สูงสุดจะอยู่ในช่วงหน้าฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม และอีกช่วงจะสูงขึ้นในหน้าหนาว โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อนถึงฤดูกาลระบาด เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันพร้อมสำหรับต่อสู้กับโรคไข้หวัดใหญ่

อย่างไรก็ตามสำหรับคนทั่วไป เด็กนักเรียนที่อยู่ในสถาบันศึกษาทุกคน หรือคนที่อยู่ในสถานที่ที่รวมกันมาก ๆ เช่นเด็กโรงเรียนประจำ เด็กเลี้ยงในเนอเซอรี่ ก็ควรที่จะได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วย โดยแนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และแนะนำฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 9 ปีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน

ในกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครบ 2 เข็มในปีก่อน ๆ แล้ว หรือผู้ที่มีอายุเกิน 9 ปี แนะนำฉีดเข็มเดียวในแต่ละปีก็พอ อย่างไรก็ตามให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อได้รับวัคซีนที่ถูกต้อง

"สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ ชนิดครอบคลุม 3 สายพันธุ์ และชนิดครอบคลุม 4 สายพันธุ์ ซึ่งได้ผลดีทั้งสองชนิด" นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ระบุ

นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย  กล่าวเพิ่มเติมว่า ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันแนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ครอบคลุมไวรัส 4 สายพันธุ์ เพราะสามารถครอบคลุม เชื้อไข้หวัดใหญ่ได้กว้างขวางมากกว่า มีประสิทธิผลดีกว่าแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

"และล่าสุดมีการศึกษาวิจัย ด้านประสิทธิผลในเด็ก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการลดลงของจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ลดความถี่ในการมาพบแพทย์ และลดการที่ต้องมารักษาตัวในห้องฉุกเฉิน ซึ่งผลโดยรวมพบว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์มากต่อคนทุกช่วงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก" นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าว

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า ที่แนะนำให้ประชาชนไปฉีดวัดซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ครอบคลุม 4 สายพันธุ์ดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดจะแตกต่างกันไปทุกปี ดังนั้นทางองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงมีการแนะนำให้ปรับสายพันธุ์ในวัคซีนใหม่ทุกปีด้วยเช่นกัน เพื่อให้สายพันธุ์ในวัคซีนใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่จะระบาดในฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ในปีนั้น ๆ มากที่สุด และภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างขึ้นจากวัคซีนในปีก่อน ๆ อาจไม่ตรงกับ เชื้อไวรัสที่ระบาดในปีต่อมา

“ในปี 2561 ประเทศไทยมีวัคซีนชนิดครอบคลุม 4 สายพันธุ์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แล้ว หากใครที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ของปีก่อน ๆ แนะนำให้ฉีดอีกครั้งที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับวัคซีนที่มีสายพันธุ์ตรงกับที่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำล่าสุด จึงจะได้ประสิทธิผลสูงสุด และได้รับประโยชน์จากการป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วยวัคซีนอย่างเต็มที่ ดังนั้น แนะนำให้ประชาชนไปฉีดได้ทันทีที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเสียแต่เนิ่น ๆ เพราะการเก็บวัคซีนในร่างกายดีกว่า เก็บวัคซีนไว้ในตู้เย็น” รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี ฝากทิ้งท้าย

4 พฤษภาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c dhiklmpuwz67

สปส.เพิ่มสิทธิผู้ประกันตนเข้าตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง หากพบความผิดปกติผู้ประกันตนจะได้รับการบำบัดตั้งแต่ระยะแรก

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สปส.ได้เพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง สถานพยาบาลตามที่ผู้ประกันตนได้เลือกไว้หากพบความผิดปกติผู้ประกันตนจะได้รับการบำบัดตั้งแต่ระยะแรก อาทิ การตรวจเต้านมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจน้ำตาลในเลือด การตรวจการทำงานของไต การตรวจไขมันในเส้นเลือดเพื่อหาความเสี่ยงโรคเรื้อรังที่พบบ่อยไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดอุดตัน ฯลฯ ทั้งนี้ สปส.ได้ดำเนินการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ผู้ประกันตนมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 มีผู้ประกันตนเข้ารับบริการแล้วกว่า 935,189 คน

"ขอเชิญชวนให้ผู้ประกันตนไปใช้สิทธิในการตรวจสุขภาพ เพียงยื่นบัตรประจำตัวประชาชนในการใช้สิทธิเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลตามที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น" นพ.สุรเดชกล่าว และว่า ข้อมูลจากสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 พบว่ามีโรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจสุขภาพแก่ผู้ประกันตนทั้งหมด 237 แห่ง แยกเป็น โรงพยาบาลรัฐ 159 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 78 แห่ง และผู้ประกันตนเข้ารับบริการตรวจสุขภาพ จำนวน 4,536,802 รายการ สปส.จะต้องจ่ายเงินให้แก่สถานพยาบาล เป็นเงินทั้งสิ้น 499,267,575 ล้านบาท

4 พฤษภาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c hlnopqwxy179

กรมอนามัย เผย ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และคณะทำงานตามยุทธศาสตร์ฯ ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ณ โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งนี้ ยังเป็นการประชุมคณะทำงานตามยุทธศาสตร์ ทั้ง 5 คณะที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ เพื่อนำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่ผ่านมา ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการพัฒนาการสื่อ ให้ความรู้ ส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น พัฒนาแกนนำวัยรุ่น ส่งเสริมการเข้าถึงบริการคุมกำเนิด พัฒนาระบบการให้บริการด้วยยาในระบบบริการสุขภาพ สนับสนุนจัดทำฐานข้อมูล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้พัฒนาคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่สื่อสารรณรงค์การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพื่อสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมสัมพันธภาพครอบครัว และให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้พัฒนาหลักสูตร E-Training เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งครรภ์ การดำเนินงานขับเคลื่อนการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา ด้วยการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยระบบการฝึกอบรมแบบ e-Training (UTQ online) ในโรงเรียนประถมศึกษา

            นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กระทรวงแรงงาน ได้สร้างการรับรู้และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มลูกจ้างวัยรุ่น การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และจัดสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต กระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตแก่วัยรุ่น ส่งต่อให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และคลอดได้รับการดูแลทั้งแม่และลูก คุ้มครองและติดตามหลังการช่วยเหลือ และกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ ประชุมอนุกรรมการฯ ส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพและการป้องกันโรคและคุมกำเนิด และโครงการประกวดคลิปวิดีโอ "หนัง (มัน) สั้น แต่รักฉันยาว : การป้องกันและแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่วัยรุ่นในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งดำเนินการโดยหลายภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

             "นอกจากนี้ กรมอนามัย ได้จัดทำแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน ส่วนกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้จัดระบบคุ้มครองเด็กในระดับตำบลเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน สร้างกลไกขับเคลื่อนงานในพื้นที่ พร้อมทำฐานข้อมูลแม่วัยรุ่นยากจนที่ลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด จัดสวัสดิการสังคมที่จำเป็นและเหมาะสมกับแม่วัยรุ่น รวมถึงติดตามประเมินพัฒนาการบุตรของแม่วัยรุ่นเป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้ การจัดทำเว็บไซต์กลาง http://teenact.moph.go.th อยู่ในการบรรจุเนื้อหาสาระให้มีความน่าสนใจและเป็นช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันของภาคีเครือข่ายการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

3 พฤษภาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c efghnrstvz17

สจล. ได้ทำการวิจัยและค้นพบกรรมวิธีในการดัดแปรโครงสร้างเคมีของข้าวเจ้า จนออกมาเป็นข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ  โดยไม่ใช้สารเคมี

ผศ.ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล รองคณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “ข้าว” นับเป็นหนึ่งในอาหารหลัก ที่อยู่ในทุกมื้ออาหารของคนไทย จัดเป็นอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงาน เมื่อผ่านกระบวนการย่อยสลายของร่างกาย จะเปลี่ยนเป็นกลูโคส หรือน้ำตาล และถูกดูดซึมเพื่อนำไปใช้เผาผลาญเป็นพลังงานของร่างกาย แต่กระนั้น การบริโภคข้าวควบคู่กับอาหารอื่นๆ ที่มากเกินไป ก็สามารถเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นโรคเบาหวานได้ จากสาเหตุดังกล่าวจึงเป็นแนวคิดการพัฒนาข้าวน้ำตาลต่ำ ที่สามารถช่วยควบคุมปริมาณน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนโดยไม่ต้องลดปริมาณการบริโภคแป้ง-น้ำตาล

ผศ.ดร.นภัสรพี กล่าวเพิ่มว่า สจล. ได้ทำการวิจัยและค้นพบกรรมวิธีในการดัดแปรโครงสร้างเคมีของข้าวเจ้า จนออกมาเป็นข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI : Low Glycemic Index) โดยไม่ใช้สารเคมี ผ่านกระบวนการการควบคุมอุณหภูมิซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างทางเคมีของข้าว โดยนำข้าวเจ้าไปผ่านกระบวนการให้ความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสมด้วยวิธีการนึ่ง แล้วทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็วผ่านการแช่เย็น และนำมาอบแห้งอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้โครงสร้างทางเคมีสามารถทนทานต่อน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้ถูกย่อยสลายช้า ร่างกายเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลและดูดซึมได้ช้าลง และทำให้รู้สึกอิ่มนานมากยิ่งขึ้น โดยทีมผู้วิจัยสามารถลดค่าดัชนีน้ำตาลของข้าวดังกล่าวได้กว่า 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวเจ้าทั่วไป และเมื่อนำไปป่นให้เป็นแป้งข้าวเจ้า สามารถลดค่าดัชนีน้ำตาลได้ต่ำในระดับที่เทียบเท่ากับข้าวกล้อง และข้าวไรซ์เบอรี่ ที่เหล่าคนรักสุขภาพนิยมรับประทานกัน

“โดยปกติ ข้าวที่เรารับประทานทั่วไป จะมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 85 ขึ้นไป ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง แต่ล่าสุด ทีมวิจัย สามารถลดค่าดัชนีน้ำตาลของข้าวเจ้า ผ่านกรรมวิธีข้างต้น ลงมาอยู่ที่ระหว่าง 65-75 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มดัชนีน้ำตาลระดับกลาง ขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธ์ของข้าวนั้นๆ ซึ่งสายพันธุ์ที่สามารถลดค่าดัชนีน้ำตาลลงมาได้สูงที่สุดได้แก่ ข้าวเสาไห้ และหากนำไปป่นเป็นแป้งข้าวเจ้าจะสามารถลดค่าดัชนีน้ำตาลลงมาอยู่ระหว่าง 50-55 ซึ่งจัดอยู่ในระดับต่ำ โดยผ่านกรรมวิธีที่ไม่ต้องใช้สารเคมี จึงทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีผลกระทบและสารตกค้างภายในร่างกายอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในท้องตลาดจะมี ข้าวกล้อง-ข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำอยู่แล้ว แต่ก็มีข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยเฉพาะ ที่ไม่สามารถรับประทานข้าวชนิดดังกล่าวได้ เนื่องจากมีฟอสฟอรัสและแคลเซียมสูง เกินปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย ซึ่งส่งผลต่อระบบหน่วยไตที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น อาจก่อให้เกิดนิ่วในไต และเสี่ยงต่อภาวะไตวาย อันเป็นโรคแทรกซ้อนอันดับต้นๆ ของผู้ป่วยโรคดังกล่าว นวัตกรรมข้าวเจ้าดัชนีน้ำตาลต่ำนี้ จึงตอบโจทย์การควบคุมปริมาณการบริโภคข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยผู้รับการรักษายังสามารถคงพฤติกรรมการบริโภค “ข้าว” อาหารหลักหัวใจชาวไทย ที่ขาดไม่ได้ในทุกมื้อ โดยไม่ถูกจำกัดปริมาณ ซึ่งส่งผลดีต่อการรักษาทั้งด้านสภาพร่างกายและจิตใจ

          “ปัจจุบัน การวิจัยอยู่ระหว่างกระบวนการนำไปทดสอบและใช้รักษาจริง (Clinical Test) ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถเริ่มใช้ได้อย่างแพร่หลาย รวมถึงสามารถต่อยอดนวัตกรรมทางการเกษตรดังกล่าว ไปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ อาทิ แป้งข้าวเจ้าสำหรับใช้ประกอบอาหารและทำขนมเพื่อสุขภาพ ที่สามารถลดปริมาณน้ำตาล หรือ ข้าวกึ่งสำเร็จรูปน้ำตาลต่ำพร้อมรับประทาน เพื่อเป็นตัวเลือกบริโภคสำหรับประชาชน และลดอัตราเสี่ยงการป่วยเป็นโรคเบาหวานในอนาคต” ผศ.ดร.นภัสรพี กล่าว.

4 พฤษภาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c befgjkow3459

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี จากสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงนี้ คือมีฝนตกสลับกับมีอากาศร้อน เป็นช่วงอันตรายที่มีโอกาสเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูง

          นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี(สคร.10) เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงนี้ คือมีฝนตกสลับกับมีอากาศร้อน เป็นช่วงอันตรายที่มีโอกาสเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูง เพราะเป็นภาวะที่ยุงลายวางไข่ได้เร็วขึ้น และการเติบโตจากไข่ ไปเป็นตัวแก่สั้นลงมาก ทำให้เชื้อแพร่ได้เร็ว ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 เมษายน 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรวม 199 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุตั้งแต่ 10 - 14 ปี

          นายแพทย์ดนัย กล่าวต่ออีกว่า เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ร้อนสลับฝน จึงอาจเกิดน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้มาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

          ทั้งนี้ อาการของโรคไข้เลือดออกอาการที่สำคัญแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะไข้ ผู้ป่วยจะ มีไข้สูงเกือบตลอดเวลาเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนปวดท้อง มักมีหน้าแดงและอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัวแขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน 2.ระยะช็อกไข้จะเริ่มลดลง ซึม เหงื่อออกมือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็วกรณีที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำช็อก และอาจเสียชีวิตได้ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมงและ 3.ระยะพักฟื้น อาการต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้นผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหารความดันโลหิตสูงขึ้นชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลงปัสสาวะมากขึ้นอาจมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกตามลำตัว ทั้งนี้ยังไม่มีวิธีรักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรงการรักษามีเพียงรักษาตามอาการและเฝ้าระวังภาวะช็อก หากประชาชนหรือคนในครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง มีอาการสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เช่นไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

3 พฤษภาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.