Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c gjkmoprsy126

คุ้นเคยกันดีกับคำว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" ดังนั้นหากรู้จักคิดและปรับเปลี่ยนทัศนคติก็สามารถทำชีวิตให้ดีขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะบ้านไหนที่มีพ่อแม่สูงวัยเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่างๆ กระทั่งทำให้ลูกหลานหลายคนเกิดความรู้สึกเหนื่อยและท้อแท้ในการดูแลท่าน หลายครอบครัวที่มีลูกมากถึงขั้นเกี่ยงกันในการเอาใจใส่

แต่หากลองคิดกลับกันว่า เราโชคดีแค่ไหนที่มีบุพการีป่วย เพราะนั่นถือเป็นวิธีในการตอบแทนผู้มีพระคุณมากกว่าที่จะมองเป็นภาระ เพราะทำให้ได้ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่มากขึ้น จากที่พูดกันวันละไม่กี่คำ แต่ในช่วงเวลาที่ต้องดูแลท่านก็อยู่ด้วยกันมากขึ้น นั่นไม่เพียงทำให้เราเข้าใจชีวิต แต่จะทำให้คนรุ่นลูกเตรียมตัวเตรียมใจรับความชรา และเข้าใจตัวเองได้ดียิ่งขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

          พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ให้ความรู้ว่า "เรื่องนี้มองได้เป็น 2 ประเด็นคือ 1.เรื่องการทำความเข้าใจผู้สูงวัยป่วย 2.การที่ลูกหลานควรทำความเข้าใจว่าการเจ็บป่วยนั้นถือเป็น เรื่องปกติของมนุษย์ทุกคน และทุกคนอีกเช่นกันที่ต้องเผชิญกับการไม่สบาย เพราะมันคือส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต เมื่อมองภาพรวมได้อย่างนี้ก็จะทำให้ลูกหลานยอมรับและเห็นใจ อีกทั้งอยากช่วยสนับสนุนให้คุณตาคุณยายมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดด้านร่างกายที่ลดลงของท่าน

          ขณะเดียวกันในมุมของผู้สูงอายุ ท่านก็อยากเป็นคนสูงอายุที่มีความมั่นใจและภูมิใจในตัวเอง ไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน อีกทั้งคนชราจะรู้สึกดีมากหากได้ช่วยเหลือลูกหลานไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม แต่เมื่อด้านกายภาพของท่านทำงานน้อยลง การที่ลูกหลานเข้าใจในความเสื่อมของร่างกาย ตลอดจนโรคภัยต่างๆ โดยไม่ทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียใจ อีกทั้งให้เกียรติ ชื่นชม ขณะที่ท่านกำลังเจ็บป่วย โดยการช่วยกันดูแล ตรงนี้จะทำให้ผู้ใหญ่และลูกหลานสามารถอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ทั้งนี้ ลูกหลานเองก็ต้องไม่คาดหวังเรื่องการเจ็บป่วย แต่ให้มองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนจะต้องเจอ เช่น การที่ผู้สูงวัยป่วยจนกระทั่งไม่สามารถเดินได้ ดังนั้นจึงไม่ควรตั้งเป้าว่าท่านจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ควรพยายามเข้าใจความต้องการทางใจของท่าน และช่วยกันดูแลผู้สูงอายุให้ดีที่สุด

          ในส่วนของมิติจิตใจคุณตาคุณยายเอง ก็ต้องมองเรื่องความเจ็บป่วยให้เป็นเรื่องธรรมชาติ เช่น การมีโรคประจำตัวไม่ใช่เรื่องแปลก กินยารักษาโรคก็ไม่ใช่เรื่องแปลก นั่นจึงทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพจิตที่ดี หรือสามารถอยู่กับโรคได้อย่างไม่เป็นทุกข์ หรือแม้แต่คุณตาคุณยายบางท่านที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ ฯลฯ แต่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ดังนั้นการใช้ชีวิตให้มีคุณค่าและสร้างความภูมิใจให้ตัวเอง โดยการช่วยเลี้ยงหลาน การเล่นกับเด็กๆ กระทั่งการทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ เนื่องจากมีผลการวิจัยออกมาระบุว่า การที่ผู้สูงอายุป่วยโรคประจำตัวมีเพื่อนที่เจ็บป่วยด้วยสาเหตุเดียวกัน และได้พูดคุย ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และแชร์ประสบการณ์ระหว่างกัน นั่นจะทำให้ผู้ป่วยอายุยืนยาวขึ้น เพราะท่านจะรู้สึกอบอุ่นใจโดยที่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แต่ทั้งนี้ ลูกหลานที่ดูแลผู้สูงวัยก็ต้องรู้จักหาเวลาพักผ่อน หรือคนคอยผลัดเปลี่ยนเพื่อไม่ให้รู้สึกเครียดมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้ดูแลพ่อแม่ไม่ดีเท่าที่ควร

          "สำหรับลูกหลานที่มักเกี่ยงกันดูแลพ่อแม่ป่วย หมออยากแนะนำว่า ถ้าเราคิดไม่รอบคอบ หลายคนจะมองว่าเรื่องนี้คือปัญหาหรือเป็นภาระ ทั้งเรื่องการเงินและกำลังใจ จึงมักปฏิเสธการดูแลท่าน แต่หากไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว หากลูกๆ ปฏิเสธที่จะดูแลพ่อแม่ไม่สบาย นั่นจะทำให้เกิดแผลที่ใจ เพราะหากท่านเสียชีวิตไปแล้ว ลูกๆ จะรู้สึกผิดในภายหลัง ที่สำคัญ ผู้ที่ดูแลผู้สูงวัยไม่เพียงขึ้นชื่อในเรื่องความกตัญญู แต่จะทำให้คุณได้เรียนรู้การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ภาวะสูงวัยผ่านตัวของเราเอง ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้นหากอายุมากขึ้น นอกจากนี้ ประสบการณ์ดีๆ ตลอดจนการเรียนรู้ที่มีประโยชน์จากผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตผ่านโลกมานาน ผ่านคำพูดของท่าน และการสังเกตของลูกหลาน ก็ถือเป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่ดีในการนำไปใช้และสอนลูกหลานต่อไป"

          ที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นว่า การดูแลบุพการียามป่วยไข้เป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าทางจิตใจ ไม่ใช่การเสียแรงกายแรงใจที่เปล่าประโยชน์ แต่นั่นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่ลูกหลานควรทำให้กับร่มโพธิ์ร่มไทรด้วยความกตัญญูรู้คุณ

9 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.