Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c fghlmnrx2679

เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการพนันฟุตบอลออนไลน์ในเด็กและเยาวชน 11 องค์กรภาครัฐและเอกชนจัดเวทีเสวนาและพิธีลงนามความร่วมมือป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ระหว่างวันที่ 14 มิ.ย.-15 ก.ค.นี้ ที่ประเทศรัสเซีย ที่ห้องเมจิก 3 ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

          นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่ดูแลด้านเด็ก เยาวชน สื่อ และสุขภาพ เป็นห่วงปัญหาการเล่นพนันในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโดยเฉพาะฟุตบอลโลกที่ใกล้จะมาถึงนี้ในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตสูงที่สุด การพนันออนไลน์ที่เด็กและวัยรุ่นนิยมสูงที่สุดคือการทายผลฟุตบอลออนไลน์ ในรอบ 1 ปีระหว่าง พ.ศ.2558-2559 มีเว็บไซต์เล่นพนันออนไลน์มากถึง 213,000 เว็บ ทำให้เด็กและเยาวชนเป็น กลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหญ่ที่จะติดพนันเนื่องจากเข้าถึงง่ายและเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา เพียงมีอุปกรณ์ เช่นมือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ส่วนใหญ่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ยากต่อการควบคุม

          ขณะที่ผลสำรวจในปี 2558 มีคนไทยเล่นการพนันร้อยละ 52 หรือประมาณ 27.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักพนันวัยเด็กและเยาวชนประมาณ 3.1 ล้านคน โดยยอมรับว่าตนเองติดพนันประมาณ 207,000 คน

          "เมื่อสื่อออนไลน์เข้ามา ทำให้มีการพนันบอลกันเกือบทุกวัน เด็กและเยาวชนเริ่มมีพฤติกรรมการพนัน ต่ำสุดคืออายุ 7 ขวบ ส่งผลกระทบทั้งการเรียน ก่อหนี้สิน ไปถึงขั้นก่ออาชญากรรม มีปัญหาสุขภาพ มีความเครียด จากการวิเคราะห์ปัญหาในช่วงฟุตบอลยูโร 2559 เด็กที่เล่นพนันทายผลบอล มีหนี้สินเฉลี่ย 2,016 บาท ร้อยละ 21 เสียการเรียน ร้อยละ 11 เครียดมาก" นพ.กิตติศักดิ์กล่าว ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า สมัยนี้สามารถเล่นพนันได้ง่ายเนื่องจากมีการถ่ายทอดสดทางสมาร์ตโฟน บางแห่งมีกลไกการตลาดโดยให้วงเงินเล่นฟรี กลไกเหล่านี้ยังไม่มีผู้มาควบคุม ผลกระทบของการพนันบอลมีทุกวัย แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มที่ยังไม่มีงานทำ บางคนต้องไปปล้นจี้เนื่องจากติดพนับบอล หาทางออกไม่ได้ กฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องสร้างการตระหนักรู้ ครอบครัว โรงเรียน ต้องสนใจเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

          ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การติดพนันเหมือนสมองติด ยาเสพติด ผู้ที่ติดพนันมากที่สุดคืออายุ 16-20 ปี มีอัตราถึงร้อยละ 40.1 เนื่องจากวัยรุ่นอยากลองอยากรู้ ยิ่งเล่นยิ่งสนุก แต่จะส่งผลกระทบให้สมองเสียหาย เกิดโรคต่างๆ มากมาย วัยรุ่นยังหาเงินไม่ได้ ต้องขอผู้ปกครอง ต้องตั้งสติให้ดี มีทักษะคิดวิเคราะห์

          โค้ชเตี้ย นายสะสม พบประเสริฐ หัวหน้าผู้ฝึกสอน สโมสรแอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล เอฟซี เผยประสบการณ์ว่า ลูกศิษย์หลายคนติดการพนันบอล เริ่มจากการเล่นเพื่อความสนุก จาก 100 บาท เมื่อเล่นได้ก็ขยับเป็น 500 และ 1,000 บาท การเล่นพนันบอลเป็นเรื่องของอารมณ์ร่วม มีความท้าทาย เด็กที่รู้จักฟุตบอล รู้จักการเล่นเทคนิคต่างๆ พอมีการแข่งขันแล้วรู้สึกว่านอนไม่ได้ ต้องดูบอล ทำให้นอนเช้า ตื่นบ่ายมาซ้อมบอลในสภาพที่ไม่ค่อยสมบูรณ์

          "เราสามารถดูฟุตบอลให้สนุกด้วยการดูพัฒนา การของการแข่งขัน กติกาใหม่ หรือเสื้อผ้า รองเท้าที่ใช้ในการแข่งขัน ยุคนี้การพนันรุนแรงขึ้นจากการที่มีออนไลน์อยู่กับเราตลอด 24 ช.ม. จากประสบการณ์ไม่มีใครได้ดีเพราะการพนัน" โค้ชเตี้ยกล่าว

          นายปุณณพัทธ์ อรุณิชย์ตระกูล ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรารณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักในการดูฟุตบอลที่ถูกต้อง ไม่ให้เด็กเข้าถึงการพนัน มีผลสำรวจในเด็กและเยาวชนพบว่า ร้อยละ 57 เล่นอินเตอร์เน็ตมากกว่า 5 ช.ม. ระหว่างนั้นจะเห็นโฆษณาพนันบอล โดยร้อยละ 54  อยากลองเล่นเพื่อความสนุก ร้อยละ 69 เรียนรู้จากออนไลน์ซึ่งสอนการเล่นพนันทั้งหมด ขณะที่ร้อยละ 78 ทราบว่าการทายผลบอลเป็นการพนัน โดยร้อยละ 61 ได้รับผลกระทบด้านหนี้สินจากการพนันหรือทายผลบอลออนไลน์ รองลงมาเสียการเรียน มีปัญหาสุขภาพจิต ทะเลาะกับครอบครัว และอื่นๆ

          ขณะที่ นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจเยาวชนอายุ 16-18 ปี พบว่าร้อยละ 75.6 รู้จักการพนันออนไลน์ ร้อยละ 67.8 ไม่เคยเล่น ร้อยละ 17 เคยเล่น ขณะที่ร้อยละ 15.2 เล่นบางครั้ง

          "ร้อยละ 70 เห็นว่าการพนันออนไลน์เข้าถึงได้ง่าย ร้อยละ 84.14 เล่นพนันผ่านโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ โดยผู้คาดหวังว่าจะได้เงินจากการพนันมีจำนวนร้อยเปอร์เซ็นต์" นายพชรพรรษ์กล่าว

19 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.