Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

2017 12 21 2

ปัจจุบัน “จักรยาน” ถือว่าเป็นพาหนะสำคัญบนท้องถนนที่เป็นปัญจัยขับเคลื่อนให้ผู้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและตระหนักเรื่องของภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กระทั่งหันมาใช้บริการขนส่งมวลชน เดิน และใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น

“ผศ. ดร. จิรพล สินธุนาวา” อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ผู้ใช้จักรยานพร้อมเล่าว่า ทุกวันนี้มีผู้สนใจเอาจักรยานมาขี่บนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นทุกช่วงอายุ  ซึ่งจะสังเกตเห็นได้จากท่ามกลางนักปั่นกลุ่มใหญ่ๆ นั้น มองลึกๆ แล้วจะมีผู้สูงอายุและเด็กที่เพิ่งเริ่มขี่อยู่ไม่น้อยทีเดียว

“ผู้ใช้จักรยานกลุ่มแรกคือ ขี่จักรยานเพื่อการออกกำลังกาย เพราะได้พบว่ามีความตื่นเต้น น่าสนใจ กว่าการออกกำลงกายด้วยวิธีอื่น ได้เห็นทิวทัศน์ ได้ไปในที่ต่างๆ ที่อยากไป มันเพิ่มอิสระภาพมากกว่าการออกกำลังกายรูปแบบอื่น แต่ส่วนมากก็เป็นนักปั่นที่อยู่ในหมู่บ้าน หรือชุมชนเล็กๆ ไม่ได้ออกมาถนนใหญ่ หรือขี่ทางไกล หรืออาจจะมีนัดขี่เป็นกลุ่มประมาณ 30-50 กิโลเมตรสั้น อันนี้คือการขี่เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ”

ผศ. ดร. จิรพลเล่าต่อว่า อีกกลุ่มหนึ่งคือการ “ขี่เพื่อสันทนาการ” กลุ่มนี้เน้นขี่เพื่อท่องเที่ยว ไปรู้จักสถานที่ต่างๆ เข้าสังคม จึงมักรวมตัวกันเป็นกลุ่ม อาจมีชมรม มีสมาชิกรวมตัวกันไป ขี่แล้วก็เป็นกลุ่มเดียวกัน พูดคุยกันรู้เรื่องสนุกสนานแลกเปลี่ยน พากันไปเที่ยวในที่ๆ ไม่เคยไป ซึ่งโดยมากเส้นทางก็ไม่ค่อยซ้ำ กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการรวมตัว และบางครั้งอาจจะขี่ในเวลากลางคืนด้วย เช่น เราจะพบหลายที่ในสวนสาธารณะ หรือบริเวณที่รถไม่หนาแน่นก็มีเยอะอยู่เช่นกัน

อย่างไรก็ตามยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ "ขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน" จริงๆ คือกลุ่มคนที่ขี่เพื่อการเดินทางไปทำงาน ไปซื้อของ ไปโรงเรียน ไปเยี่ยมญาติ ไปทำธุระต่างๆ แต่ปัจจุบันนี้มีคนในกลุ่มนี้ไม่ถึงร้อยละ 10 ที่ขี่เพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน

“จริงๆ เราก็หวังว่ากลุ่มนี้จะเติบโตขึ้น  เห็นได้ว่า กลุ่มคนที่ขี่เพื่อการท่องเที่ยว การออกกำลังกาย และเพื่อสันทนาการ หันมาขี่เพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันจริงๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นได้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ชัดเจน เพราะจะเป็นกลุ่มที่เพิ่มการพบเห็นของผู้ขับรถยนต์เป็นประจำ เขาจะเห็นว่าเส้นทางนี้มีนักปั่นอยู่เป็นประจำในเวลานี้กี่คน และเขาจะคอยหลบ คอยระวังที่จะลดความเร็วลงมา รวมถึงการเว้นระยะห่างจากริมฟุตบาท เพื่อเว้นพื้นที่ว่างให้จักรยาน ซึ่งตนคิดว่าหากมีการขี่เป็นประจำ คนกลุ่มนี้จะสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้นได้” ผศ. ดร. จิรพลเล่า

ปัจจัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุของผู้ใช้จักรยาน

ข้อนี้ ผศ.ดร.จิรพล อธิบายว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เตรียมพร้อม ขาดทักษะและขาดความระมัดระวังของผู้ขี่จักรยานเองด้วย  ฉะนั้นถ้าจะลดความสูญเสียจากปัญหาดังกล่าวได้จริงๆ จะต้องให้ผู้ใช้จักรยานได้เรียนรู้การใช้จักรยานร่วมเส้นทางกับพาหนะอื่นๆ อย่างปลอดภัย

การให้สัญญาณมือ หมายถึงการสื่อสารกับคนข้างหลัง ในระยะ 50 หลา ก่อนเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา

 - เลี้ยวขวา คือ การยื่นแขนขวาออกไปด้านข้างให้สุดขนานกับพื้น และแผ่ฝ่ามือออก

 - เลี้ยวซ้าย คือ การยื่นแขนซ้ายออกไปด้านข้างให้สุดขนานกับพื้น และแผ่ฝ่ามือออก

 - หยุดหรือจอด ยกแขนขึ้นขนานกับพื้น พับแขนลงในลักษณะตั้งฉาก ขนานกับลำตัว แบมือหันฝ่ามือไปด้านหลัง

การมองข้ามไหล่ ก่อนเปลี่ยนเลนส์ ต้องมีความสามารถมองข้ามไหล่ ให้เป็น โดยที่ล้อตั้งตรง และมองเห็นรถคันหลัง

การขี่จักรยานที่ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอย่างเพียงพอ เช่น กระดิ่ง, ไฟหน้าแสงขาว, ไฟท้ายแสงแดง

การสวมใส่หมวกกันน็อค ที่มีมาตรฐาน และใส่สายรัดคางให้กระชับเสมอ

การสวมเสื้อผ้าสีสว่างสดใส เห็นแต่ไกล หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าสีเข้ม สีดำ เพราะผู้ขี่รถยนต์มองเห็นยาก

การเลือกซื้อจักรยาน ต้องเลือกขนาดที่สอดคล้องกับสรีระของผู้ขี่ จักรยานจะต้องประกอบด้วยชุดห้ามล้อที่มีประสิทธิภาพ เบาะนั่งที่มีขนาดพอดี ตัวถังแข็งแรงไม่มีรอยแตกหรือร้าว ยางและล้อ ที่หมุนได้อย่างคล่องตัว ไม่มีการเสียดสีตัวถัง เมื่อหมุน มีชุดขับเคลื่อนที่ทำงานได้อย่างแม่นยำ 

ผศ.ดร.จิรพล ฝากว่า ถึงแม้จะมีอุปกรณ์ครบ ก่อนการขี่จักรยานทุกครั้งก็ต้องมีการตรวจสอบด้วยเช่นกัน โดยการตรวจเช็คลมยาง เช็คเบรก ดูโซ่ และการหมุนของล้อต้องไม่ขูดกับส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวถัง ตะเกียบ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายต่อจักรยานได้ และที่สำคัญที่ลืมไม่ได้คือใส่หมวกกันน็อค ซึ่งเป็นตัวที่จะช่วยปกป้องส่วนที่แพงที่สุดของร่างกายเอาไว้ อย่าออกจากบ้านโดยไม่มีหมวกกันน็อคเด็ดขาด

วิธีตรวจความพร้อมก่อนใช้จักรยาน

A - AIR ลมยาง เช็คดูลมยางกดแล้วต้องแข็ง กดไม่ลง ถ้ากดแล้วลงไปได้เรื่อยๆ แสดงว่าลมอ่อนเกินไป ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง

B - Brake เบรค ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของห้ามล้อ ถ้าใช้ห้ามล้อหน้าเต็มที่ ขณะรถถูกเข็นไปข้างหน้า ล้อหลังจะยกสูงจากพื้น

ถ้าใช้ห้ามล้อหลังเต็มที่ ขณะรถถูกเข็นไปด้านหน้า ล้อหลังจะหยุดหมุน และถูกลากไปด้านหน้า

C - Chain โซ่ เช็คว่าหมุนได้คล่องตัวไหม หย่อนหรือตึงเกินไปหรือเปล่า ส่วนนี้ต้องดูให้ดี โซ่ต้องไม่ทิ้งหย่อนลังมาจนไปโดนตัวถังหรือตะเกียบหลัง เช็คดุมล้อว่ามีเสียงดังหรือไม่ ถ้ามีเสียงลูกปืนแตก หรือเสียงดังต้องระวัง

S - Spin ตรวจสอบการหมุนล้อ 1. ด้วยการยกให้ล้อหน้าลอยจากพื้น ใช้มือหมุนล้อจะต้องไม่แกว่งและต้องไม่มีเสียงดังของล้อที่หมุนโดยตะเกียบ หรือชุดห้ามล้อข้างใดข้างหนึ่ง 2. ยกให้ล้อหลังลอยจากพื้นใช้มือหมุนล้อ ล้อจะต้องไม่แกว่งและต้องไม่มีเสียงดังของล้อที่หมุนโดนจะถอยหลัง หรือชุดห้ามล้อข้างใดข้างหนึ่ง 3.ขณะหมุนล้อ หน้าและหลังจะต้องไม่มีเสียงดังจากดุมล้อทั้งหน้าและหลัง

"อยากจะเชิญชวนทุกคนที่อยากขี่จักรยาน รู้จักการขี่จักรยานที่ถูกต้องและปลอดภัย  โดยอาจจะเริ่มจากเข้ากลุ่ม เริ่มเรียนรู้ ก่อนที่จะออกมาถนนใหญ่ และหาโอกาสสอบใบขับขี่จักรยาน จะช่วยเพิ่มทักษะการขับขี่ การใช้เส้นทางร่วมกับผู้อื่นอย่างปลอดภัย เพราะเราจะเรียนรู้วิธีการป้องกันตนเอง เรียนรู้การสื่อสาร และการส่งสัญญาณนั่นเอง"

นอกจากจักรยานจะเป็นตัวช่วยในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมแล้ว ที่สำคัญการขี่จักรยานยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมชุมชนให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้นด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

สาระสุขภาพ-21 ธ.ค. 60