Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c bdjklnuvxyz3

การจมน้ำเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งสูงมากกว่าการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ และสูงมากกว่าอุบัติเหตุจากการจราจรถึง 2 เท่า

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักเกิดจากการเผอเรอชั่วขณะของผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเด็ก เช่น รับโทรศัพท์ เปิด-ปิด ประตูบ้าน ทำกับข้าว ซึ่งบางครั้งไม่คิดว่าแหล่งน้ำในภาชนะในบ้านจะทำให้เด็กจมน้ำได้ เนื่องจากเด็กเล็กมีการทรงตัวไม่ดี จึงทำให้ล้มในท่าศีรษะทิ่มลมได้ จึงมักพบเด็กจมน้ำสูงในแหล่งน้ำภายในบ้าน หรือรอบ ๆ บ้าน เช่น ถังน้ำ กะละมัง แอ่งน้ำ บ่อน้ำ (เด็กสามารถจมน้ำเสียชีวิตได้ในแหล่งน้ำที่มีระดับความสูงเพียง 1-2 นิ้ว

เด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เด็กเริ่มโตและซน จะเริ่มออกไปเล่นนอกบ้าน การจมน้ำสูง มักเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก การที่เด็กว่ายน้ำไม่เป็น และการช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธี โดยส่วนใหญ่จะเห็นว่าเด็กวัยนี้จะเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลาย ๆ คน เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก พอเห็นเพื่อนหรือน้องตกน้ำ คิดว่าตัวเองว่ายน้ำเป็นจึงกระโดดลงไปช่วย แต่สุดท้ายจะกอดคอกันเสียชีวิต แหล่งน้ำที่พบเด็กจมน้ำคือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น บ่อขุดเพื่อการเกษตร คลอง แม่น้ำ บึงนน

การป้องกัน

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

  • ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กทุกคนควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ควรเผอเรอแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว โดยเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็น คว้าถึงและเข้าถึง
  • ไม่ปล่อยทิ้งให้เด็กเล่นน้ำเองตามลำพังแม้ในกะละมัง ถังน้ำ โอ่ง
  • มีการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น เทน้ำทิ้งภายหลังใช้งาน หาฝาปิด รวมถึงการจัดพื้นที่เล่นปลอดภัยให้เด็ก
  • สอนให้เด็กเล็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงภัยในบ้าน เช่น กะละมัง ถังน้ำ และวิธีการหลีกเลี่ยง โดยเน้น “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” คือ สอนให้เด็กอย่าเข้าไปใกล้แหล่งน้ำ อย่าเก็บสิ่งของหรือของเล่นที่อยู่ในน้ำ และอย่าก้มไปดูน้ำในแหล่งน้ำ

เด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

  • ไม่ปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง ต้องมีผู้ใหญ่ไปด้วย
  • สอนให้เรียนรู้กฎแห่งความปลอดภัยทางน้ำ เช่น ไม่เล่นใกล้แหล่งน้ำ ไม่เล่นคนเดียว ไม่ลงไปเก็บดอกบัว/กระทงในแหล่งน้ำ ไม่เล่นน้ำตอนกลางคืน รู้จักแหล่งน้ำเสี่ยง รู้จักใช้ชูชีพหรืออุปกรณ์ลอยน้ำได้เมื่อต้องโดยสารเรือ
  • ควรสอนให้เด็กรู้จักการเอาชีวิตรอดในน้ำ เพราะหากเด็กไม่รู้จักวิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำ เมื่อตกน้ำหรือจมน้ำในจุดที่ห่างไกลจากฝั่งมาก ๆ เด็กจะพยายามว่ายน้ำเข้าหาฝั่งจนหมดแรงก่อนที่จะว่ายน้ำถึงฝั่ง แต่การเอาชีวิตรอดที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคือ การลอยตัวอยู่ในน้ำให้ได้นานที่สุดเพื่อรอการช่วยเหลือ
  • สอนให้เด็กรู้จักวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง คือ “ตะโกน โยน ยื่น” โดยเมื่อพบคนตกน้ำต้องไม่กระโดดลงไปช่วย แต่ควรตะโกนขอความช่วยเหลือ โทรแจ้ง 1669 และหาอุปกรณ์โยนหรือยื่นให้คนตกน้ำจับเพื่อช่วย เช่น ไม้ เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า
  • จัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่เด็ก เช่น สร้างรั้ว หาฝาปิด/ฝังกลบหลุมบ่อที่ไม่ได้ใช้ ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำที่หาได้ง่ายบริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง (ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้ เชือก)
  • มีมาตรการทางด้านกฎหมาย/กฎระเบียบ/ข้อบังคับ เช่น ต้องใส่เสื้อชูชีพเมื่อโดยสารเรือ ห้ามดื่มสุราก่อนลงเล่นน้ำ กำหนดให้มีบริเวณเล่นน้ำ/ดำน้ำที่ปลอดภัย และแยกออกจากบริเวณสัญจรทางน้ำ กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ (lifeguard) ดูแลแหล่งน้ำ

การช่วยเหลือ

หลังจากช่วยคนที่ตกน้ำ จมน้ำขึ้นมาแล้ว ห้ามจับอุ้มพาดบ่า กระโดดหรือวิ่งรอบสนาม หรือวางบนกระทะคว่ำแล้วรีดน้ำออก เพราะจะทำให้ขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น กรณีเด็กไม่หายใจ ให้ช่วยด้วยการเป่าปากและนวดหัวใจและควรนำส่งโรงพยาบาลทุกราย

12 ก.พ.2561 - ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.