Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c ehjlpruvxz67

ปัจจุบันโรคข้อเข่าเสื่อมนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้สูงอายุในประเทศไทย จากสถิติพบว่าประชาชนคนไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมกว่า 6 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่ มักมีอาการปวดเข่าเวลาเดิน

โดยเฉพาะตอนเดินขึ้นบันได อาการปวดส่วนมากมักเป็นบริเวณด้านในของข้อเข่า เวลานั่งอยู่เฉยๆ มักไม่มีอาการปวด ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการเดิน สูญเสียความมั่นใจ มีผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง บางกรณี ที่ผู้ป่วยมีข้อเข่าเสื่อมและขาโก่งมากๆ นั้นมีผลทำให้การเดินของผู้ป่วยผิดปกติไป มีโอกาสเกิดการหกล้มและทำให้เกิดการหักของกระดูกบริเวณตะโพก ทำให้ผู้ป่วยเกิดทุพพลภาพเพิ่มมากขึ้น

          ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมเริ่มต้นด้วยการบรรเทา อาการปวด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน มีความสำคัญมาก พยายามหลีกเลี่ยงการนั่งคุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่ชอบนั่งสมาธิ เพราะการนั่งในท่าที่งอเข่ามากๆ จะทำให้เพิ่มแรงดันภายในเข่า และกระดูกที่งอกจากโรคข้อเข่าเสื่อมไปกดทับกับเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆ เข่า จะทำให้ท่านมีอาการปวดมากขึ้น ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักร่างกายมากจำเป็นต้องลด น้ำหนัก ซึ่งส่วนใหญ่ที่แนะนำให้ลดประมาณร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว

          การใช้ยาลดปวดเพื่อบรรเทาอาการก็ควรระมัดระวัง ยาที่ค่อนข้างจะปลอดภัยมากที่สุดคือ ยาพาราเซตามอล จะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าได้ ต้องระวังการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ที่เวลาทานแพทย์มักจะแนะนำให้รับประทานหลังอาหารทันที เพราะจะมีผลต่อกระเพาะอาหาร นอกจากนั้นอาจมีผลต่อไตได้ หากจำเป็นต้องรับประทานยากลุ่มนี้ควรจะรับประทานหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายสามารถขับยานี้ออกไปได้ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องไตควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้การทำงานของไตแย่ลง

          นอกจากนี้  ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเข่าเสื่อมมาก และขาโก่งผิดรูป มีผลต่อการใช้งานของข้อเข่าในชีวิตประจำวัน เดินลำบาก คุณหมอแนะนำว่า ให้รักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ด้วยเทคโนโลยี ความรู้และทักษะของแพทย์ในปัจจุบันทำให้การรักษา ข้อเข่าด้วยวิธีการผ่าตัด เปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ผลดีมาก ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ภายใน 2 วัน หลังการผ่าตัด สิ่งที่ผู้ป่วยกลัวการผ่าตัดรักษามี 2 ประการหลักๆ คือ 1.ผ่าแล้วกลัวเดินไม่ได้ และ 2.กลัวอาการปวดหลังผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้และความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้ผลการรักษาผ่าตัดได้ผลดีเยี่ยม หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดน้อยมาก และสามารถลุกเดินได้หลังผ่าตัด และสามารถเดินได้โดยไม่ใช้ไม้เท้าชนิดวอล์กเกอร์ ภายใน 3 เดือน หลังผ่าตัด วิธีการลดอาการปวดหลังการผ่าตัด มีการนำเทคนิคของการระงับความรู้สึกที่บริเวณสันหลัง หรือการระงับความรู้สึกที่เส้นประสาทโดยตรง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดลดน้อยลงเป็นอย่างมาก รวมทั้งเทคนิคการผ่าตัดที่ดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยการผ่าตัดมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก และสามารถกลับไปทำงาน และช่วยเหลือตนเองได้เร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีเทคนิคการเย็บแผลชั้นใน และใช้กาวทาบริเวณแผลผ่าตัดซึ่งช่วยให้ ผู้ป่วยไม่ต้องมาตัดไหมหลังผ่าตัด

          ส่วนการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดข้อเข่าเทียมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยต้องไปตรวจเช็คสุขภาพของฟันเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีฟันผุ เพราะฟันผุอาจทำให้มีเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่เข่าข้างที่ทำการผ่าตัด ก่อนผ่าตัดทุกครั้งแพทย์จำเป็นต้องตรวจเช็คสุขภาพของท่านเกี่ยวกับโรคที่ท่านเป็นอยู่ หรือป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนเสมอ เช่น การตรวจการทำงานของหัวใจ การถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไขกระดูก การทำงานของไตและตับ เพื่อความ ปลอดภัยของผู้ป่วยสูงสุดและให้ผลการรักษาที่ดีเยี่ยม ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้จากการผ่าตัดได้แก่ การติดเชื้อ ที่บริเวณแผลผ่าตัดซึ่งสามารถเกิดได้ประมาณร้อยละ 1 ภาวะลิ่มเลือดที่ขาอุดตันก็มีโอกาสเกิดได้ แต่น้อยมาก

          ปัจจุบันการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นอย่างมาก สามารถใช้งานของข้อเข่าได้เป็นอย่างดี ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อย ผู้ป่วย ที่ได้รับการผ่าตัดมีความพึงพอใจต่อผลการรักษาสูง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไม่น่ากลัวอย่างที่คิดครับ คุณหมอกล่าวในที่สุด

9 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c cijlnoqrt145

การดูแลตนเอง และการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ “การจัดสภาพแวดล้อม” นับเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการหกล้มได้ เช่นกัน

         รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ด้วยความที่ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไรนัก เริ่มจากสายตาพร่ามัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง การเดินเหินก็ไม่ค่อยสะดวกเหมือนตอนยังหนุ่มยังสาว ถ้าไม่มีราวให้เกาะ หรือแสงสว่างไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้หกล้มได้ การปรับสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกหลานหรือคนดูแลต้องให้ความใส่ใจ และความสำคัญ

          สภาพแวดล้อมภายในบ้าน ควรเลือกใช้หลอดไฟสีขาว หรือหลอด LED โดยมีระยะห่างกันตารางเมตรละ 1 ดวง หรือมีแสงสว่างเพียงพอที่จะเคลื่อนไหวร่างกายได้โดยไม่ชนกับสิ่งของรอบข้าง เลือกใช้วัสดุที่ไม่ลื่นในการปูพื้น  พื้นบ้านควรมีจุดสังเกตที่ชัดเจนหากมีการเปลี่ยนระดับ เช่น แถบสี  บันไดควรมีความสูงประมาณ 15 เซนติเมตร ลึก 20 เซนติเมตร จะทำให้เดินสะดวก และควรมีราวจับที่แข็งแรง วัสดุที่ใช้ทำบันไดต้องไม่ลื่น  เตรียมพื้นทางเดินให้มีความกว้างอย่างน้อย 1.5 เมตร สำหรับการใช้วอล์กเกอร์หรือรถเข็น  ปลั๊ก สวิตช์ สามารถเปิด-ปิดได้สะดวก อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และปลอดภัยต่อการใช้งาน

          ห้องนอน  ผู้สูงอายุควรนอนบนเตียง เวลาตื่นจะได้ลุกง่าย โดยเตียงควรมีความสูงกว่าเข่าเล็กน้อย หรือพอดีเข่า จะทำให้ลุกนั่งสบาย  บริเวณด้านข้างเตียง ควรมีพื้นที่เหลือประมาณ 1.5 เมตร เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น รถเข็น วอล์กเกอร์เข้ามาได้อย่างสะดวก

          ห้องน้ำ  ควรแยกห้องน้ำออกจากห้องส้วมอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการลื่นหกล้มในห้องน้ำ  บริเวณโถส้วม พื้นต้องแห้งตลอดเวลา   เลือกใช้กระเบื้องปูพื้นแบบหยาบ เพื่อป้องกันการลื่นหกล้ม  เลือกใช้พรมเช็ดเท้าแบบไม่ลื่น หากปูกระเบื้องแบบธรรมดาไปแล้ว สามารถแก้ไขด้วยการซื้อแผ่นยางกันลื่นมาปูทับอีกครั้ง จะช่วยให้พื้นไม่ลื่น แต่ต้องหมั่นทำความสะอาดบ่อยๆ เพราะเมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่ง ตะไคร่น้ำและคราบสบู่จะขึ้นที่แผ่นยาง และเป็นเหตุให้ลื่นล้มได้ ติดเทปกันลื่นในห้องน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่ยืนอาบน้ำ  ติดตั้งราวมือจับในห้องน้ำ โดยเฉพาะบริเวณข้างชักโครก และบริเวณที่ยืนอาบน้ำ หากมีพื้นที่ไม่มากพอ ก็ติดจากพื้นขึ้นมาเป็นรูปตัว U  เลือกใช้ประตูลูกบิดแบบที่สามารถใช้เหรียญบาทหมุนแล้วเปิดจากด้านนอกเข้าไปได้ ประตูห้องน้ำควรเป็นแบบเปิดออก หรือแบบเลื่อน เพราะหากผู้สูงอายุล้มอยู่ในห้องน้ำ การช่วยเหลือจะไม่กระทบต่อตัวผู้ป่วย

          พื้นที่ภายนอก  ควรเป็นพื้นที่โล่งๆ ไม่มีของวางขวาง ระเกะระกะ และมีระดับที่เรียบเสมอกัน - เลือกใช้วัสดุปูพื้นชนิดที่ไม่ลื่น เช่น กระเบื้องหินผิวหยาบ คอนกรีตผิวหยาบ เป็นต้น การจัดสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกบ้านให้เหมาะสม จะช่วยป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุได้ทางหนึ่ง ทำให้ท่านสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : หน่วยผู้ป่วยนอกศัลยกรรมกระดูกชั้น 2 อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร. 0-2200-3235 ทุกวันศุกร์เวลา 10.30-12.30 น.

9 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c bghkoqsy2356

อุบัติเหตุบนท้องถนนสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวินาที ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่ตัวเราเองที่เป็นผู้ประสบภัย แต่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับบุคคลอื่น  ดังนั้น ผู้ใช้รถควรทราบวิธีปฏิบัติกรณีเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะในกรณีที่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาถึงที่เกิดเหตุ เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที รวมทั้งปลอดภัยกับทุกฝ่ายด้วย

          นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อนที่ทำให้ผู้เข้าไปช่วยเหลือได้รับอันตราย และลดการบาดเจ็บรุนแรงจากการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี ปภ.จึงขอแนะประชาชนเรียนรู้วิธีปฏิบัติ ดังนี้

          คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก หากบริเวณที่เกิดเหตุมีปริมาณรถหนาแน่นหรือทัศนวิสัยไม่ดี ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยหาวัสดุหรือกรวยสีสะท้อนแสงมาวางให้ห่างจากจุดเกิดเหตุ เพื่อเตือนให้รถคันอื่นทราบว่าเกิดอุบัติเหตุ ขณะเดียวกันควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพกู้ภัย มาช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อลดโอกาสเกิดป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน

          โทรศัพท์แจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน โดยพยายามจดจำและให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดเกิดเหตุ รวมทั้งอาการของผู้บาดเจ็บให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผนการช่วยเหลือได้อย่าง ถูกต้อง

          ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในเบื้องต้น โดย ช่วยเหลือผู้ที่มีอาการรุนแรงเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผู้ที่หมดสติ หยุดหายใจ หัวใจ หยุดเต้น และเสียเลือดมาก ให้ตั้งสติและปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามอาการ ดังนี้

          กรณีหัวใจหยุดเต้น ให้นำผู้ประสบเหตุนอนราบ บนพื้นแข็ง พร้อมปั๊มหัวใจโดยใช้มือกดบริเวณกลางหน้าอกใต้ลิ้นปี่ 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก หรือใช้วิธีกดหน้าอกให้ยุบประมาณ 1.5-2 นิ้ว อย่างแรงและเร็วประมาณ 100 ครั้งต่อนาที โดยทำติดต่อกันจนกว่า ผู้ประสบเหตุจะหายใจได้เอง

          กรณีกระดูกแตกหรือหัก ผู้ประสบเหตุจะมีอาการบวมบริเวณผิวหนัง เลือดคั่งหรืออวัยวะผิดรูป ห้ามดึงให้กระดูกกลับเข้าที่ และไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุ เพราะอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น ให้ทำการ เข้าเฝือกชั่วคราว โดยใช้กิ่งไม้นาบทั้งสองข้างของอวัยวะส่วนที่หัก แล้วใช้ผ้าหรือเชือกมัดให้แน่นเพื่อไม่ให้กระดูกส่วนที่หักเคลื่อนไหว

          กรณีเลือดออกมาก ให้นำผู้ประสบเหตุนอนราบกับพื้น พร้อมยกส่วนที่เลือดออกมากให้สูงขึ้นจะช่วยให้ เลือดไหลช้าลง จากนั้นทำการห้ามเลือด โดยนำ ผ้าสะอาดกดบริเวณปากแผลโดยตรงหรือใช้วิธีขันชะเนาะ ด้วยการนำผ้าหรือสายยางรัดบริเวณเหนือบาดแผล หากมีอวัยวะฉีกขาด ให้ใช้ผ้าสะอาด ปิดบาดแผลและพันรัดห้ามเลือดไว้ จากนั้นนำอวัยวะส่วนที่ขาดใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้แน่น พร้อมนำถุงไปแช่น้ำแข็ง และส่งให้แพทย์ช่วยเหลือต่อไป

          ทั้งนี้ หากไม่มีความรู้ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุบัติเหตุด้วยตนเอง ควรรอให้หน่วยกู้ชีพหรือทีมแพทย์ฉุกเฉินมาช่วยเหลือ จะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงจากการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี ซึ่งอาจทำให้ผู้ประสบเหตุพิการหรือเสียชีวิตได้

9 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c abdefhnqsvwz

มูลนิธิเมาไม่ขับเปิดเวทีระดมความคิดเห็นรณรงค์ให้หยุดทางม้าลาย ชวนใช้มือถือให้เกิดประโยชน์ถ่ายรูปคนทำดี ชี้ไม่หยุดผิดกฎหมาย

นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการรณรงค์ให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับหารหยุดรถบริเวณทางม้าลายเพื่อให้ประชาชนคนเดินเท้าข้ามไปก่อนทางมูลนิธิเมาไม่ขับ และทางกระทรวงวัฒนธรรมจึงได้เปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ "ทางม้าลาย ปลอดภัยจริงหรือ" ในวันศุกร์ที่ 9 มี.ค.นี้ โดยในการเสวนาจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการดูแลความปลอดภัย การบังคับใช้กฎหมาย การปรับกายภาพบริเวณทางข้ามม้าลายให้ผู้ขับขี่เห็นชัดเจน และหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้ผู้ขับขี่หันมาสนใจกรณีต้องหยุดเมื่อถึงทางข้ามม้าลายทุกครั้ง ซึ่งในการเสวนานั้นจะเปิดโอกาสให้หน่วยต่างๆได้ร่วมเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์เพื่อที่มูลนิธิจะได้นำไปพิจารณาใช้เป็นมาตรการต่อไป

นพ.แท้จริง กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการที่ได้มีการกำหนดแล้วเบื้องต้นคือ การเชิญชวนให้คนที่ข้ามทางม้าลายให้ใช้กล้องสมาร์ตโฟนให้เป็นประโยชน์ โดยการถือกล้องถ่ายรูปรถที่หยุดให้ประชาชนข้ามทางม้าลายและส่งหลักฐานมายังมูลนิธืเมาไม่ขับหรือกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อให้รางวัล โดยการดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นการสร้างสัญลักษณ์ให้คนอยากทำความดี นอกจากนี้จะมีการสำรวจทางม้าลายทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ว่ามีป้ายสัญลักษณ์แจ้งเตือนให้คนขับรถหยุดหรือจอดรถหรือไม่หากพบว่ายังไม่มีหรือไม่ชัดเจน จะต้องให้หน่วยงานที่ดูแลในแต่ละพื้นที่ไปดำเนินการ อย่างไรก็ตามต้องชี้แจงว่ากรณีที่ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลายข้ามถนนไปก่อนถือว่าเป็นความผิดตามพรบ.จราจรทางบกมีโทษปรับไม่เกิน1,000 บาท ดังนั้นผู้ขับขี่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไม่เช่นนั้นจะถือว่ามีความผิด โดยในเรื่องดังกล่าวที่ต่างประเทศให้ความสำคัญมากในกรณีที่จะขับรถข้ามทางม้าลาย แต่ในประเทศไทยยังไม่ได้เห็นความสำคัญจึงส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณทางม้าลายบ่อยครั้ง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นที่จะต้องมาร่วมกันหาแนวทางและรณรงค์ปลูกฝั่งจิตสำนึกใหม่ให้ผู้ใช้รถใช้ถนน

9 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c dhijknps2359

ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า "นพ.สุรเดช"แนะเบิกประกันสังคมได้ หากไม่เข้ารพ.ตามบัตรฯ ให้นำใบเสร็จรับเงินที่สำรองจ่ายไปพร้อมใบรับรองแพทย์มาเบิกคืนได้ที่สปส.

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (พื้นที่สีแดงตามประกาศกรมปศุสัตว์) ใน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก และศรีสะเกษ

"และพื้นที่เฝ้าระวังโรคระบาดพิษสุนัขบ้าในอีก 42 จังหวัด ซึ่งขณะนี้อยู่ในความดูแลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขแล้ว ว่าสำนักงานประกันสังคมในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิด" นพ.สุรเดช ระบุ 

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมโดยประสานให้สถานพยาบาลคู่สัญญาและเครือข่ายทั่วประเทศเตรียมรับผู้ประกันตน หากผู้ประกันตนประสบเหตุถูกสุนัขกัดในกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคมขอแนะนำให้ผู้ประกันตนที่ถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

"โดยใช้สิทธิประกันสังคมได้ และผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ตนเองเลือกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ตนเองเลือกได้ ควรรีบเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยฉีดวัคซีนเข็มแรก ณ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงินที่สำรองจ่ายไปก่อน พร้อมใบรับรองแพทย์มาเบิกคืนได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่งที่สะดวก"นพ.สุรเดช กล่าว

นพ.สุรเดช  กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลของรัฐ ประเภทผู้ป่วยนอกสามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น กรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการ ทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลเอกชนประเภทผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินครั้งละ 2,000 บาท และจ่ายเพิ่มตามรายการการรักษาที่กำหนดตามหลักเกณฑ์

ทั้งหากผู้ประกันตน มีปัญหาข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

8 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.