Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c bcdeijlquv18

ตัวอย่างกรณีเด็กน้อยวัยขวบเศษที่ตกเป็นข่าวบนหน้าโซเชียล ที่ป่วยด้วยอาการปอดติดเชื้อเพราะสูดดมควันบุหรี่มือสองจากคนในบ้าน "ควันบุหรี่มือสอง" ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางร่างกายในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่มันจะทำร้ายสุขภาพไปถึงคนที่คุณรักภายในบ้านด้วย ควันบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ที่ไม่มีระดับ "ปลอดภัย"

          ในการสัมผัสควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด และมากกว่า 60 ชนิดที่วงการแพทย์ระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็ง

          องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ปัจจุบันมีเด็กเกือบ 700 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรเด็กทั้งโลก หายใจเอาอากาศปนเปื้อนควันบุหรี่ที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในบ้าน และควันบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นหลอดลมอักเสบ การเป็นหวัดบ่อยขึ้น และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กที่เป็นโรคหืดอยู่แล้วมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้นถึงร้อยละ 80 ซึ่งพบว่าเด็กเหล่านี้มีพ่อแม่ที่สูบบุหรี่

          นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "การที่ผู้ไม่สูบบุหรี่สูดเอาควันบุหรี่จากผู้สูบบุหรี่ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันเรียกว่า "การสูบบุหรี่มือสอง" และสามารถได้รับสารพิษอื่นๆ เข้าสู่ร่างกายเช่นเดียวกับผู้สูบบุหรี่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีตระหนักถึงอันตรายจากบุหรี่และควันบุหรี่ จึงได้จัดโครงการบ้านปลอดบุหรี่ และขยายเครือข่ายการรณรงค์โครงการบ้านปลอดบุหรี่ต่อเนื่องเพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้สู่ประชาชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้ตระหนักถึงอันตรายและผล กระทบของการได้รับควันบุหรี่ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กทั้งในด้านความเสี่ยงปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นและเน้นแบบอย่างของการไม่สูบบุหรี่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ด้วยการรณรงค์ให้ "บ้านปลอดบุหรี่" และสนับสนุนให้โครงการบ้านปลอดบุหรี่ขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กไทย"

          นอกจากประเด็นเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงจากพิษควันบุหรี่แล้ว พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของสมาชิกในบ้านยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพฤติกรรมสูบบุหรี่ในเด็กและวัยรุ่น หรือการเกิดนักสูบหน้าใหม่ คือ เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่มีพ่อแม่หรือพี่น้องสูบบุหรี่ มากกว่าร้อยละ 90 จะกลายเป็นคนสูบบุหรี่ด้วย ถ้ามีพี่หรือน้องสูบบุหรี่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่) จะเป็นความเสี่ยงของการสูบบุหรี่ในวัยรุ่นมากถึง 2.3 เท่า ถ้ามีพ่อหรือแม่สูบบุหรี่จะเป็นความเสี่ยงให้วัยรุ่นสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 62% (1.6 เท่าของคนที่ไม่ได้มีพ่อหรือแม่สูบบุหรี่) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กวัยรุ่นที่มีแม่สูบบุหรี่จะมีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 2.2 เท่า

          แพทย์หญิงนัยนา ณีศะนันท์ ประธานโครงการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ขยายเครือข่ายในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่สู่ชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า "ควันบุหรี่มือสองไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางร่างกายในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่รวมไปถึงทารกในครรภ์มารดา ซึ่งส่วนประกอบในควันบุหรี่มือสองสามารถผ่านรก (placenta) ไปยังทารกได้ สารที่มีความสำคัญคือ carbon monoxide และ nicotine จะมีผลเสียต่อการพัฒนาของสมองทารกและการเติบโตของทารกในครรภ์ เด็กในครรภ์จะมีโอกาสเกิดภาวะน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนดหรือเสียชีวิตในครรภ์"

          ผลการสำรวจสถานการณ์การสัมผัสพิษควันบุหรี่ของเด็กที่มารับบริการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และผลการรณรงค์ "บ้านปลอดบุหรี่" ให้กับผู้เลี้ยงเด็กที่นำผู้ป่วยเด็กมารับบริการในสถาบันสุขภาพเด็กฯ จาก 11 หน่วยงาน ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ย.2559 จำนวน 1,022 ครัวเรือน พบว่า 1 ใน 5 ของเด็กจากการศึกษานี้มีโอกาสได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน และในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับสมาชิกในบ้านที่สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงในการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจส่วนบน (หวัด น้ำมูก ไอ เจ็บคอ) และอาการหอบเหนื่อย/ต้องพ่นยา เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ พญ.นัยนาได้แนะวิธีป้องกันภัยลูกจากควันบุหรี่มือสองดังนี้

          1.บ้านควรเป็นที่ปลอดภัยของสมาชิกใน ครอบครัว เพื่อสุขภาพที่ดี ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ไม่สูบบุหรี่ในที่ใกล้เด็กหรือคนท้อง 2.การเจ็บ ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สัมพันธ์กับการที่มีสมาชิกในบ้านสูบบุหรี่ 3.การรณรงค์เรื่อง "บ้านปลอดบุหรี่" คือการปกป้องต้นทุนสุขภาพเด็กไทย.

          "ควันบุหรี่มือสองไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางร่างกายในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่รวมไปถึงทารกในครรภ์มารดา ซึ่งส่วนประกอบในควันบุหรี่มือสองสามารถผ่านรก (placenta) ไปยังทารกได้ สารที่มีความสำคัญคือ carbon monoxide และ nicotine จะมีผลเสียต่อการพัฒนาของสมองทารกและการเติบโตของทารกในครรภ์ เด็กในครรภ์จะมีโอกาสเกิดภาวะน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนดหรือเสียชีวิตในครรภ์"

22 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c cegkmrz35789

กรมสุขภาพจิตเผยไทยมี“เด็กดาวน์”เกิดใหม่ปีละ800 คน/ปีลดจากเมื่อก่อนปีละ1,000 คน ชี้หญิงตั้งครรภ์อายุมาก และหญิงที่ แท้งลูกบ่อยๆ มีโอกาสเสี่ยงสูง

ที่สถาบันราชานุกูล กทม. นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดกิจกรรมเนื่องในวันดาวน์ซินโดรมโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มี.ค. ทุกปี ในปีนี้เน้นในหัวข้อ “ดาวน์ดวงนี้ที่สร้างได้” โดย นาวาอากาศตรีนพ.บุญเรือง กล่าวว่า กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม เป็นโรคทางพันธุกรรมไม่มียารักษา สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ทั่วโลกพบในเด็กเกิดใหม่ประมาณ 1 ต่อ 1,000 คน กว่าร้อยละ 80 เกิดจากแม่อายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนไทยมีหญิงให้กำเนิดลูกที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ปีละ 800-1,000 คน จากหญิงคลอดที่มีปีละประมาณ 800,000 คน คาดขณะนี้จะมีคนไทยอยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ 70,000-80,000 คนทั่วประเทศ และจัดอยู่ใน1 ใน 8 ประเภทของผู้พิการไทย ทั้งนี้ หัวใจหลักของการดูแลจะเน้นที่การส่งเสริมพัฒนาการเพื่อให้เด็กช่วยเหลือตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยเด็กสามารถมีพัฒนาการดีขึ้นได้ หากพ่อแม่กระตุ้นตั้งแต่ภายในขวบปีแรกและต่อเนื่องจนถึงอายุ 5 ขวบ

ทางด้าน พญ. มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า เด็กดาวน์ซินโดรม จะมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กปกติประมาณ 2 ปี ซึ่งเด็กกลุ่มนี้สามารถพัฒนาศักยภาพไปได้เรื่อยๆ และสามารถไปโรงเรียนได้ บางคนสามารถเรียนจบในระดับปริญญาตรี ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง โดยส่วนมากจะเกิดจากคุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือคุณแม่ที่มีภาวะแท้งคุกคาม คือมีการแท้งบุตรติดต่อกัน 2 ครั้งขึ้นไป โดยมักเกิดในคุณแม่อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ามีเด็กดาวน์ซินโดรมที่เกิดจากคุณแม่ในวัยเจริญพันธุ์ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม นอกจากสติปัญญาบกพร่องที่เกิดจากพันธุกรรมแล้ว ยังพบว่ามีปัจจัยภายนอกที่ทำให้ระดับสติปัญญาถดถอยลงไปอีก เช่น สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมการที่แม่บางคนมีการสัมผัสสารพิษอยู่เรื่อยๆก็จะทำให้เด็กที่มีสติปัญญาบกพร่องอยู่แล้วมีสติปัญญาถดถอยลงไปอีก

ทั้งนี้ นอกจากพันธุกรรมแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดมาเป็นดาวน์ซินโดรมเรื่องอายุก็เป็นส่วนสำคัญ โดยในหญิงทั่วไป จะมีโอกาส 1 ใน 1,000 คน หากมีพันธุกรรมมีโอกาสเกิด 1 ใน 500 คน และหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป มีโอกาส 1 ใน 100 คน ดังนั้น ยิ่งคุณแม่มีอายุมากและมีพันธุกรรมด้วยก็จะมีเสี่ยงมากไปอีก ซึ่งคุณแม่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปหรือมีประวัติครอบครัว หรือมีประวัติการแท้งคุกคาม สามารถมาตรวจเลือดดูพันธุกรรมได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหรือไม่ ซึ่งจะมีการแสดงตัวโคโมโซม หรือดีเอ็นเอให้เห็นว่าน้องมีความผิดปกติหรือไม่ ดังนั้นขอแนะนำว่าเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนแรกให้มาพบแพทย์หากแพทย์ หากพบผิดปกติสามารถเลือกจะให้น้องอยู่ต่อ หรือทำแท้งได้ตามกฎหมาย แต่โดยส่วนมากแล้วคุณพ่อคุณแม่มักจะเลือกให้น้องอยู่ต่อเพราะเกิดความผูกพันธ์ไปแล้ว ซึ่งเด็กดาวน์ซินโดรมเองเป็นเด็กที่มีความน่ารักในตัวสามารถพัฒนาได้ เพราะไม่ได้มีความบกพร่องมาก จะมีความบกพร่องในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อยๆ จาก 1,000 คนต่อปี ขณะนี้พบว่าเหลือ 800 คนต่อปี ซึ่งอาจมีผลจากการที่เด็กเกิดน้อยลง และการที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพด้วย

ด้านการรักษาจะเน้นกระตุ้นพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กให้สามารถทำงานได้ การพูด การเข้าสังคม และการให้การศึกษา ส่วนการให้ยาจะไม่ใช่ยารักษาอาการดาวน์ซินโดรม แต่จะเป็นยาที่รักษาบางอาการ เช่นจะใช้ในกรณีควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ยกตัวอย่าง เด็กที่ถูกทอดทิ้งจะมีภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าเด็กปกติก็จะมียาคลายเศร้าให้ หรือ เด็กบางคนมีความพิการซ้ำซ้อน มีลมชักร่วมด้วยก็จะมียากันชักให้ ทั้งนี้ปัจจุบันสถาบันฯ มีการดูแลเด็กกลุ่มดังกล่าวประมาณ 8,000 คน สำหรับกลุ่มเด็กอาการดาวน์ที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ตั้งแต่วัยก่อนเรียน สถาบันฯได้จัดโปรแกรมฟื้นฟูทางการศึกษาในช่วงอายุ 6 ปีขึ้นไป แล้วส่งต่อให้สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทยส่งเสริมให้ได้ทำงานในสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนในปี 2561 นี้ ได้รับการจ้างงาน 1,039 อัตรา เพิ่มจากปี 2559 ที่มี 654 อัตรา

22 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c gijnpsuwz128

เนื้อปลา ประกอบไปด้วยสารอาหารหลากหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อสมองของเรา

พญ.อัมพร  เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปลาเป็นอาหารที่มีโภชนาการสูงเป็นแหล่งโปรตีนและแร่ธาตุสำคัญต่างๆ เช่น ไอโอดีน รวม ถึงโอเมก้า 3 ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมัน 2 ชนิด คือ อีพีเอ(EPA) ที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตันช่วยสร้างสารเข้าไปขยายหลอดเลือดช่วยลดการจับตัวของเกล็ดเลือด และดีเอชเอ(DHA) มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองและดวงตา ซึ่งสำคัญต่อสตรีในระยะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะ 3 เดือนก่อนคลอด และระยะให้ นมบุตรช่วยให้สมองทารกพัฒนาสมบูรณ์ แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วโอเมก้า 3 มักจะพบได้ในปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งต้องนำเข้าและมีราคาค่อนข้างสูง  แต่ปลาทะเลของไทยก็มีคุณค่าโภชนาการและโอเมก้า 3 สูงไม่แพ้กัน ได้แก่ ปลาจะละเม็ดขาว ปลาสำลี ปลากะพงขาว ปลากะพงแดง ปลาอินทรีย์ ปลาทูปลาจะละเม็ดดำ ปลาเก๋า รวมถึงปลาน้ำจืดบางชนิดโดยเฉพาะปลาดุก ปลาสวายปลาช่อน ปลาสลิด ปลาตะเพียน ปลากรายปลานิล ปลาไหล เป็นต้น ซึ่งหาได้ง่ายราคาไม่แพง และมีขายอยู่ทั่วไป

21 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

อย.เล็งยกระดับยาสูตรผสมรักษาวัณโรคบางตัวเป็นยาควบคุมพิเศษ จากปัจจุบันแค่ยาอันตราย มีขายในร้านยาเป็นสูตรเดี่ยว รักษาหวัด-ท้องเสีย หวังสกัดปัญหาเชื้อดื้อยาในไทย

newscms thaihealth c bchjkopqrs39

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวในงานแถลงข่าวยุติเชื้อดื้อยาว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นวิกฤตทั่วโลก ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 7 แสนคน หากไม่เร่งแก้ปัญหาคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตสูงถึงปีละประมาณ 10 ล้านคน สำหรับประเทศไทยประมาณการณ์ผู้ป่วยเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 8.8 หมื่นคน เสียชีวิตปีละประมาณ 3.8 หมื่นคน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี นับเป็นเรื่องสำคัญขนาดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญ ปักหมุดหยุดเชื้อดื้อยา โดยตั้งคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพ เพื่อทำยุทธศาสตร์จัดการเชื้อให้หมดในปี 2560-2564

กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ และหนึ่งในตัวชี้วัดประเมินผลงานของสถานพยาบาลด้วย นอกจากนี้ยังต้องเร่งแก้ไขความเชื่อของประชาชนว่าโรคบางโรคสามารถหายเองได้ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ เช่น หวัด ไอ เจ็บคอ แผลสด เป็นต้น เพราะสามารถหายเองได้ และที่สำคัญส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อไวรัสอยู่แล้ว

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ยามีอยู่ 4 ประเภท คือ 1. ยาควบคุมพิเศษ อนุญาตให้มีการใช้ในรพ.เท่านั้น 2.ยาอันตราย อนุญาตให้ใช้ในสถานพยาบาล และจำหน่ายในร้านขายยาที่มีเภสัชกรเท่านั้น 3. ยาสามัญประจำบ้าน และ 4. ยาอื่นๆ ทั้งนี้ยาปฏิชีวนะจะจัดอยู่ในประเภทที่ 1 และ 2 เท่านั้น เป็นการกำหนดขอบเขตการใช้ ไม่อนุญาตให้ขายในร้านขายของชำเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะกรรมการยากำลังมีการทบทวนทะเบียนตำรับยาปฏิชีวนะ โดยยกสถานะยาบางตัว อาทิ ยารักษาวัณโรค ซึ่งในรพ.จะนำมาใช้รักษาวัณโรคในลักษณะยาสูตรผสม แต่บางตัวยามีการนำมาใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษาไข้หวัดและท้องเสีย ซึ่งปัจจุบันเป็นยาอันตรายที่ยังมีการขายในร้านขายยาที่มีเภสัชกร เป็นยาควบคุมพิเศษที่ให้มีการใช้เฉพาะในรพ.เท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อดื้อยาในประเทศ เพราะหากเชื้อมีการดื้อยาดังกล่าวจากที่มีการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อแล้ว เมื่อประชาชนป่วยแล้วจำเป็นต้องใช้ยานั้น จะไม่สามารถใช้รักษาได้ผลเพราะเชื้อดื้อยาไปแล้ว

ด้าน นพ.พิสนธ์ พ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจาภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ว่าจะไม่อนุญาตให้มีการขายยาปฏิชีวนะในร้านขายของชำ แต่ล่าสุดที่ไปจ.ขอนแก่น พบว่ายังมีการขายอยู่ และแบ่งขายเป็นเม็ดๆ เป็นเรื่องที่ผิดมาก เพราะการกินยาปฏิชีวนะนอกจากจะไม่กินพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็นแล้ว จะต้องกินให้ครบโด๊สด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการดื้อยา ทั้งนี้ยาปฏิชีวนะมีหลายกลุ่ม แต่ขณะนี้ในรพ.พบว่ามีปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะหลายตัว ทำให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียลดต่ำลงเรื่อยๆ เรื่องนี้ต้องเอาจริงเอาจัง ส่วนเรื่องการทบทวนทะเบียนตำหรับยานั้นจะมีการประชุมในอีกประมาณ 1-2 วันนี้

อนึ่ง อย.ได้จัดโครงการ “ชั่งใจก่อนใช้ยา ธีม...ลดภัยร้ายเชื้อดื้อยา ปวงประชาสุขภาพดี” โดยหนึ่งในกิจกรรม คือ การผลิตข้อมูลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่าน BUS Media จำนวน 3 แบบ ได้แก่ “ยาปฏิชีวนะ ใช้ถูกเป็นมิตร ใช้ผิดเป็นภัย” “โรคนี้หายเองได้ กินยาปฏิชีวนะไป ไร้ประโยชน์” และ “ใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อตกเป็นเหยื่อ “เชื้อดื้อยา”” โดยจะติดโปสเตอร์ภายในรถโดยสารประจำทางสาธารณะที่มีเส้นทางเดินรถต้นทาง – ปลายทาง ระหว่างกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล ให้ครอบคลุมมากที่สุด จำนวน 7 สาย รวม 30 คัน ได้แก่ สาย ปอ.29 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) –หัวลำโพง สาย ปอ.40 ลำสาลี – สายใต้เก่า สาย ปอ.27 มีนบุรี – อนุสาวรีย์ชัยฯ สาย ปอ.203/1 อตก. – สนามหลวง สาย ปอ.522 รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยฯ สาย ปอ.558 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – เซ็นทรัลพระราม 2 และสาย ปอ.18/1 ท่าอิฐ – อนุสาวรีย์ชัยฯ ซึ่งจะเริ่มวิ่งพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2561 เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดย อย. หวังว่าผู้โดยสารรถประจำทางสายดังกล่าวจะได้รับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องสมเหตุผล

22 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c ahikmowx1237

กรมสุขภาพจิต ชี้ "นวดไทย" ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพรักษาโรคซึมเศร้า ลดอาการซึมเศร้าของผู้ป่วยลงได้ 100% ทำให้ทุเลาสูงถึง 83.3% ไม่มีผลข้างเคียง

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม รพ.พระศรีมหาโพธิ์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านโรคซึมเศร้า ว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้ขยายเครือข่ายการรักษาโรคซึมเศร้าไปที่ รพ.ทุกระดับในเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลดีขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยละ 54.37 ในปี 2560 เพิ่มเป็น ร้อยละ 55.98 ในปี 2561 หรือจำนวน 800,798 คน จากผู้ป่วยที่คาดว่าทั่วประเทศจะมีประมาณ 1.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทองและผู้สูงอายุ โดยจังหวัดอ่างทองเข้าถึงบริการสูงที่สุดในประเทศร้อยละ 99.72แต่บางแห่งยังอยู่ในอัตราต่ำ เช่น กรุงเทพฯ เข้าถึงบริการร้อยละ 32 จะต้องเร่งดำเนินการให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาให้มากขึ้น

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า กรมฯ ได้เร่งพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาโรคซึมเศร้า โดยดึงภูมิปัญญาไทยโดยเฉพาะการนวดไทยมาใช้รักษาโรคนี้เนื่องจากการนวดจะเพิ่มการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น กระตุ้นร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข ได้ให้ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ทำการศึกษาวิจัยในปี 2560 ขณะนี้สำเร็จแล้ว และมีข่าวดีพบว่า การนวดไทยทำให้อาการซึมเศร้าของผู้ป่วยลดลงได้ร้อยละ 100 ผู้ป่วยหายทุเลาได้สูงถึงร้อยละ 83.3 การนวดด้วยแพทย์แผนไทยนี้จึงเป็นทางเลือกในการตัดวงจรการป่วยโรคซึมเศร้าในระดับที่ยังไม่รุนแรงให้หายหรือทุเลาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะทำให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ได้เป็นอันมาก โดยกรมสุขภาพจิตจะเร่งขยายผลใช้ในชุมชนทั่วประเทศ

“คุณภาพการรักษาโรคซึมเศร้าของไทยขณะนี้เมื่อเทียบกับทั่วโลก พบว่าไทยมีอัตราเสียชีวิตจากโรคนี้ต่ำมากๆ เพียงร้อยละ 0.0015 ขณะที่ต่างประเทศมีร้อยละ10.41 ส่วนอัตราหาย/ทุเลาของไทยมีร้อยละ 44.43 ยังต่ำกว่าทั่วโลกที่อยู่ที่ร้อยละ70.6 ซึ่งอาจเกิดมาจากพื้นฐานความเชื่อผิดๆ เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ จึงทำให้คนไทยเข้าใจว่าอาการของใจที่หดหู่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่อาการป่วย และเชื่อว่าจะค่อย ๆ หายไปเอง จึงไม่ไปพบแพทย์ ทำให้อาการรุนแรงขึ้น การรักษาจึงมีความยุ่งยากขึ้น ทำให้อัตราหายทุเลาน้อยลง” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

นพ.ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กล่าวว่า การวิจัยการนวดแผนไทยเพื่อรักษาโรคซึมเศร้านี้ ดำเนินการในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าในระดับไม่รุนแรง – ปานกลาง เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่ร่าเริง ท้อแท้ชีวิต แต่ยังไม่ถึงขึ้นมีอาการทางจิตเช่นหลงผิด ประสาทหลอน หูแว่ว รวม 26 คน โดยใช้ท่านวดที่รพ.ฯได้คิดค้นตามหลักวิชาการเรียกว่า พระศรีนวดแผนไทย (Prasri Massage Therapy) มีทั้งหมด 7 ขั้นตอน คือ 1. นวดพื้นฐานที่บ่า หลัง หัวไหล่ 2. นวดพื้นฐานที่โค้งส่วนคอ นวดศีรษะด้านหลัง และที่จุดจอมประสาท 3. นวดที่ศีรษะด้านหน้า ร่องริมฝีปากบน 4. นวดศีรษะ 5. นวดขาและเปิดประตูลมโดยใช้น้ำมัน 6. การนวดหลังโดยใช้น้ำมัน และ 7. นวดพื้นฐานที่แขนทั้งด้านในและด้านนอก และนวดมือโดยใช้น้ำมัน นวดครั้งละ 60 นาที นวดทุก 2-4 วัน ติดต่อกัน 5 ครั้ง

นพ.ประภาส กล่าวว่า เมื่อนวดครบขั้นตอนดังกล่าว พบว่าได้ผลเป็นที่พอใจมาก ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นขึ้น กระปรี้กระเปร่า จิตใจเบิกบาน ผ่อนคลาย ตัวที่เคยรู้สึกหนักอึ้งจะโล่งเบา กินข้าวได้มากขึ้น นอนหลับดีขึ้น ความรู้สึกไม่ดีกับตนเองลดลง ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ โดยรพ.พระศรีมหาโพธิ์มีแผนจัดทำหลักสูตรอบรมพระศรีนวดแผนไทยเพื่อการบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์แผนไทยที่อยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล และทำเป็น YouTube สาธิตการนวดมุ่งหวังว่าจะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในพื้นที่ต่างๆ ที่มีอาการระดับเล็กน้อยหายทุเลา ไม่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น

19 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.