Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c efhklmrvx467

เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนทำให้การบริโภคน้ำและน้ำแข็งเพิ่มขึ้น สำนักอนามัย (สนอ.) กรุงเทพ มหานคร (กทม.) ดำเนินโครงการเฝ้าระวังความปลอดภัยของน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งในพื้นที่กรุงเทพ มหานคร ประจำปี 2561 จะดำเนินโครงการระหว่างเดือน มี.ค.ก.ค. 61 โดยขอความร่วมมือให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตมอบหมายให้ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลดำเนินการตรวจสอบสุขลักษณะสถานที่ผลิตน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งในเขตกรุงเทพฯ ตามหลักเกณฑ์

วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารเป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดขั้นพื้นฐานหรือ GMP (Good Manufacturing Practice) โดยให้เก็บตัวอย่างจากสถานที่ผลิตน้ำบริโภคในภาชนะ ที่ปิดสนิทและน้ำแข็ง เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยาและทางเคมีและดำเนินการกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยของน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งเพื่อให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและสอดคล้องกับตัวชี้วัดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมตรวจสอบสถานะสถานประกอบกิจการผลิตน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งว่าปัจจุบันมีการประกอบกิจการอย่างถูกต้องหรือไม่

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับปี 2560 สำนักอนามัย สำนัก งานเขตทั้ง 50 แห่งลงพื้นที่ตรวจสอบสุขลักษณะสถานที่ผลิตน้ำบริโภคและน้ำแข็งตามหลักเกณฑ์ GMP จำนวน 152 ราย พบว่าผ่านเกณฑ์ จำนวน 97 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 55 ราย และสถานที่ผลิตน้ำแข็ง 69 ราย พบว่าผ่านเกณฑ์ จำนวน 61 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 8 ราย รวมสถานที่ผลิตน้ำแข็ง 221 แห่ง ไม่ ผ่านเกณฑ์ถึง 63 แห่ง ซึ่งโรงผลิตไม่ผ่านเกณฑ์เจ้าหน้าที่ได้แนะนำผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง เช่น การบันทึกรายงานการผลิตการทำความสะอาดบริเวณการผลิตการจัดเก็บสารเคมีให้เป็นสัดส่วนรวมทั้งสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน.

7 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c acefhklpqz46

กระทรวงสาธารณสุข เตือนระวังโรคลมแดด ลมร้อน หรือฮีทสโตรก ในช่วงฤดูร้อนอันตรายถึงเสียชีวิต เตือนคนทำงานหรือเล่นกีฬากลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน และดื่มน้ำเปล่าบ่อย ๆ หากตัวร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออกให้รีบเข้าที่ร่ม ระบายความร้อนในร่างกายโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากชักหรือหมดสติให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรสายด่วน 1669

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2561 กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่าตั้งแต่มีนาคม ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อน สภาพอากาศร้อนอบอ้าวและร้อนจัดในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงสุดอาจจะสูงถึง 40-42 องศาเซลเซียส ซึ่งในช่วงอากาศร้อนจัด ประชาชนเสี่ยงมีภาวะเจ็บป่วยจากสภาวะอากาศร้อน ทั้งโรคลมแดด ลมร้อน หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) มีอันตรายอย่างรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการทำงานผิดปกติของระบบสมอง ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดเฉลี่ยปีละ 32 คน ล่าสุดในปี 2559 พบผู้เสียชีวิต 21 ราย สาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถปรับตัวได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด อาจมีอาการเพิ่มเติมเช่น ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อค หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

นายแพทย์เจษฎากล่าวต่อว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สื่อสารความรู้คำแนะนำในการดูแลและป้องกันโรคที่มาจากอากาศร้อนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยงได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬา การฝึกทหาร ที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ผู้ทำงานกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ และ6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด

6 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c abfgjkpxz159

พก.ตอกย้ำแนวคิด "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"เดินหน้าส่งเสริมศักยภาพคนพิการ ให้กู้ยืมเงินเป็นทุนประกอบอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

นายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกกลุ่ม ได้แก่ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ ภายใต้แนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จึงมอบหมายให้ กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ดำเนินการตามนโยบายประชารัฐ เพื่อให้คนพิการมีความเข้มแข็ง มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง พึ่งพาตนเองได้ โดยการให้งบประมาณสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ผ่านกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

นายสมคิด กล่าวว่า กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 23 เพื่อเป็นทุน สําหรับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาสมรรถภาพ คนพิการ การศึกษาและการประกอบอาชีพของคนพิการ รวมทั้งการส่งเสริมและการสนับสนุนการดําเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โดยจัดสรรให้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง พร้อมให้บริการภารกิจหลักสำคัญ ได้แก่ การให้บริการการกู้ยืมเงินคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ เพื่อเป็นทุนไปประกอบอาชีพของคนพิการ ในปัจจุบัน ให้วงเงินกู้รายบุคคลไม่เกิน รายละ 60,000 บาท ผู้ประสงค์จะขอกู้ยืมเงิน เกินกว่าวงเงินที่กำหนด ให้มีการพิจารณาเป็นรายๆ ไปโดยไม่เกิน 120,000 บาท และการกู้ยืมรายกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมเป็นรายบุคคล จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1) มีบัตรประจำตัวคนพิการ 2) มีความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพในท้องที่ที่ยื่นคำขอ 3) มีความสามารถในการประกอบอาชีพในเรื่องที่ขอรับการสนับสนุน 4) บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีหรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส) 5) มีภูมิลําเนาตามทะเบียนบ้านในท้องที่ที่ยื่นคําขอกู้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน 6) ไม่มีประวัติเสียหายในการกู้เงินจากกองทุน เว้นแต่ได้ดำเนินการแก้ไขมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 7) กรณีมีหนี้สินอยู่กับกองทุนต้องได้ชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของวงเงินกู้ยืมทั้งหมด และ 8) มีความสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมได้และมีบุคคลที่น่าเชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำประกัน

ส่วนกรณีเป็นผู้ดูแลคนพิการ 1) มีคุณสมบัติเดียวกับกู้ยืมเป็นรายบุคคล (ข้อ 2 - 8) 2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย 3) ได้รับการรับรองเป็นหนังสือจากผู้แทนองค์กรด้านคนพิการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนา ข้าราชการระดับ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือมีหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการซึ่งมิได้มีหนี้สินจากกองทุน 4) คนพิการซึ่งอยู่ในความดูแลเป็นผู้เยาว์ ผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ออทิสติก สติปัญญา หรือมีสภาพความพิการถึงขั้นไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ 5) ต้องรับดูแลคนพิการหรืออุปการะคนพิการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน 

สำหรับคุณสมบัติผู้กู้ยืมเป็นรายกลุ่ม 1) เป็นกลุ่มคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่รวมตัวกันโดยมีผลประโยชน์และวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนกัน หรือทำกิจกรรมอันชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมร่วมกัน หรือดำเนินการอื่นอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีระบบบริหารจัดการและการแสดงเจตนาแทนกลุ่มได้ ทั้งนี้ ต้องมีสมาชิกกลุ่มไม่น้อยกว่า 2 คน  2) มีหลักฐานจากสถาบันการเงินเกี่ยวกับการออมเงินของกลุ่มอย่างสม่ำเสมอมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน 3) ดำเนินกิจการของกลุ่มในท้องที่จังหวัดที่ยื่นคำขอต่อเนื่องจนถึงวันยื่นคำขอแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน  4) ได้รับการรับรองเป็นหนังสือรับรองจากองค์กรด้านคนพิการที่เป็นนิติบุคคลหรือหน่วยงานภาครัฐว่าเป็นกลุ่มที่มีผลงานน่าเชื่อถือจริง  5) มีแผนงานหรือโครงการของกลุ่มที่จะดำเนินการต่อไปอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการมีความประสงค์ขอกู้ยืม ที่มีภูมิลำเนาในเขตกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ บ้านราชวิถี กรุงเทพมหานคร ส่วนบุคคลที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนั้นๆ ทั้งนี้ มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านในท้องที่ที่ยื่นคำขอกู้ไม่น้อยกว่า 90 วัน

“พก. นับเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีความเป็นธรรม ทั่วถึงทุกพื้นที่ ทั้งนี้ ในปี 2561 พก. มีแผนการดำเนินงานที่จะส่งเสริมให้คนพิการไทยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผ่านกลไกกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยถือเป็นการปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคม จากภาระเป็นพลังของสังคมก่อให้เกิดกระแสความรับรู้ สร้างความตระหนักในการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของคนพิการ ก่อให้เกิดการมีอาชีพ รายได้ ที่มั่นคง และพึ่งพาตนเองได้ต่อไป” นายสมคิด กล่าว

6 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c behnopqvx125

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อด้านสุขภาพ สำหรับเด็กประถมศึกษา (ป.4-6) อายุ 10-12 ปี เพื่อเด็กและเยาวชนมีความรู้ เสพสื่อที่เหมาะสมอย่างสร้างสรรค์ในโลกยุคดิจิทัล

นายชาญยุทธ  พรหมประพัฒน์  ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า ในปัจจุบันที่เรียกว่าโลกยุคดิจิทัล  สื่อต่างๆ  มีทั้งด้านดีและด้านลบ  ด้านลบเด็กอาจเกิดความเข้าใจผิดจากข้อมูลด้านสุขภาพที่มีการโอ้อวด เชิญชวนทำให้เกิดการหลงเชื่อได้ง่าย เช่น การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ให้กินขนมขบเคี้ยวเพื่อรับของแถม และการชิงโชค การซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการหลงเชื่อในการซื้อสินค้าซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วนในเด็ก และอันตรายจากสารปลอมปนในสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เนื่องจากเด็กและเยาวชนที่ยังขาดวุฒิภาวะ ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์เนื้อหาที่มากับสื่ออย่างเหมาะสม แม้แต่พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคปัจจุบันที่เลี้ยงลูกท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสื่อมากมายรอบตัว ทั้งดีและไม่ดี ก็ยังขาดความรู้ความ เข้าใจในเรื่องของการเท่าทันสื่อ ทำให้ไม่สามารถชี้แนะบุตรหลานได้ 

นายชาญยุทธ  กล่าวต่อว่า กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้จัดทำคู่มือ “การจัดกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อด้านสุขภาพ สำหรับเด็กประถมศึกษา (ป.4-6) อายุ 10-12 ปี” เพื่อให้พ่อแม่ แกนนำสุขภาพครอบครัว/อาสาสมัครครอบครัว (อสค.) ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักพัฒนาสังคม ผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชน แกนนำเด็ก เยาวชน และกลุ่มสื่อ ใช้เป็นคู่มือติดอาวุธให้กับนักเรียนประถมศึกษา โดยการทำกิจกรรมผ่านการเรียนรู้ผ่านองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ เปิดรับ เข้าถึง เข้าใจ วิเคราะห์ ประเมิน และใช้ประโยชน์ ซึ่งคู่มือดังกล่าวเป็นแนวทางที่อ่านเข้าใจง่าย ปฏิบัติได้จริงเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้และทักษะในการเข้าถึง เข้าใจ วิเคราะห์ ประเมินและใช้สื่อและเนื้อหาที่เหมาะสมอย่างสร้างสรรค์

ทั้งนี้ ประชาชน ครอบครัว ครู และผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดคู่มือการจัดกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อด้านสุขภาพ  สำหรับเด็กประถมศึกษา (ป.4-6) อายุ 10-12 ปี ได้ทางเว็บไซต์ของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (www.hed.go.th)

6 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c dgjlmnwxz459

เวียนศีรษะบ้านหมุน เกิดจากสาเหตุอะไร และมีวิธีรักษาอย่างไร มาหาคำตอบกัน

นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการบ้านหมุน เป็นปัญหาสุขภาพที่สร้างความรำคาญและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะระหว่างทำงานหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรอาจเกิดอันตรายได้ อาการที่พบได้บ่อยคือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ทรงตัวลำบาก บ้านหมุนคล้ายกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน หรือรู้สึกว่าตัวเองหมุนทั้งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว อาจมีอาการทางหูร่วมด้วย เช่น หูอื้อ มีเสียงในหู เป็นต้น

สาเหตุของอาการบ้านหมุน มักเกิดจากสาเหตุของหูชั้นใน หรือระบบประสาทก็ได้ โดยทั่วไปถ้ามีอาการเวียนศีรษะรุนแรง ผู้ป่วยมักจะไม่สามารถเคลื่อนไหวศีรษะได้ หรืออาการเลวลงเมื่อมีการขยับหรือเปลี่ยนตำแหน่งของศีรษะ ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหู เช่น น้ำในหูไม่เท่ากันหรือหินปูนในหูหลุด คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาการบ้านหมุนเกิดจากน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่จากการศึกษาพบว่ามีเพียงร้อยละ 50 ที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน พบร้อยละ 10 โดยผู้ป่วยจะมีอาการบ้านหมุน หูอื้อ ร่วมกับการได้ยินของหูข้างนั้นลดลง ส่วนอาการเวียนศีรษะจากสาเหตุของโรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง มักมีอาการเวียนศีรษะทันทีทันใด โดยที่มีความรุนแรงไม่มาก ร่วมกับมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ตาเหล่หรือเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว แขนขาชาหรืออ่อนแรง เดินลำบาก หรือทรงตัวไม่ได้ ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดทันที ส่วนสาเหตุอื่นๆ ของการเวียนศีรษะอาจเกิดจากอาการเมารถ เมาเรือ หรือปวดศีรษะไมเกรนได้

ดังนั้น การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญกับผู้ป่วย เพราะถ้าได้รับการรักษาในระยะแรกจะได้ผลดี หากสงสัยว่าตนเองมีความผิดปกติ รู้สึกเวียนศีรษะ บ้านหมุนโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือมีประวัติโรคหู ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง

รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรายที่มีอาการเวียนศีรษะและอาเจียนมากๆ จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ความดันในเลือดต่ำและอาจเกิดภาวะช็อก ทำให้เกิดอันตรายได้ ทั้งนี้เมื่อมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขณะทำกิจกรรมต่างๆ ควรหยุดนั่งพัก เพื่อป้องกันการหกล้ม กรณีที่มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนมากๆ ควรนอนพักสักครู่จนอาการดีขึ้น หรือนั่งพัก หลับตา และรีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการเลวลง เช่น การหันศีรษะไวๆ การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้ม-เงยคอนานๆ ความเครียด วิตกกังวล อดนอน เป็นต้น ควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้.

"เมื่อมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขณะทำกิจกรรมต่างๆ ควรหยุดนั่งพัก เพื่อป้องกันการหกล้ม กรณีที่มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนมากๆ ควรนอนพักสักครู่จนอาการดีขึ้น หรือนั่งพัก หลับตา และรีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการเลวลง เช่น การหันศีรษะไวๆ การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้ม-เงยคอนานๆ ความเครียด วิตกกังวล อดนอน"

5 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.