Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c bipqstvy2468

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนหากสงสัยอาการป่วยคล้ายโรคไข้เลือดออก ขอให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็ว ถ้ามาช้าอาจทำให้อาการหนักก่อนถึงโรงพยาบาลได้  พร้อมขอให้ใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” เนื่องจากในบางพื้นที่อาจยังมีฝนตกประปราย เสี่ยงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย หลังต้นปีนี้พบผู้ป่วยกว่า 3 พันรายแล้ว และเสียชีวิต 9 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กโตถึง 6 ราย

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงต้นปีนี้ แม้จะไม่ใช่ช่วงหน้าฝน แต่ในบางพื้นที่ก็ยังมีฝนตกอย่างประปรายอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดเป็นน้ำขังตามพื้นที่และภาชนะต่างๆ เสี่ยงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ และอาจทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ได้เช่นกัน  สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2561 นี้ ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 28 ก.พ. 61  พบผู้ป่วยทั้งประเทศ 3,072 ราย เสียชีวิต 9 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง 6 ราย และภาคใต้ 3 ราย

นอกจากนี้ ยังพบว่าส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตเป็นเด็กโตในช่วงอายุ 10-24 ปี (6 ราย) ผู้สูงอายุ (2 ราย) และวัยทำงาน (1 ราย)  และส่วนมากพบว่ามีโรคประจำตัวร่วมด้วย โดยเฉพาะโรคอ้วน   ทั้งนี้ อาการร่วมกับไข้ที่พบในระยะแรกของผู้เสียชีวิต คือ อาการปวดท้อง ถ่ายเหลว และในบางรายได้รับการวินิจฉัยท้องร่วง หรือลำไส้อักเสบมาก่อนด้วย

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ช้าอาจทำให้อาการหนักก่อนมาถึงโรงพยาบาลได้ และอาจเป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนรักษายากขึ้นและเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น หากประชาชนหรือพบคนใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว มีอาการสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เช่น ไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ  ถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย

กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง  2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย  ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

2 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c bcdefhijqv23

ในปี 2561 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุสูงถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดและมากกว่าประชากรเด็ก โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มากถึง 11,770,000 คน และประชากรผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) จำนวน 7,919,000 คน (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2561)

ผศ.พญ.จิตติมา บุญเกิด ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลให้ข้อมูลว่า การที่สูงอายุมากขึ้นทำให้มีปัญหาต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพกาย ซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามธรรมชาติของร่างกาย และโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งปัญหาด้านสุขภาพกายที่พบบ่อยในผู้สูงอายุก็คือ “การหกล้ม”จากการเก็บข้อมูล พบว่าการหกล้มในผู้สูงอายุเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557) ซึ่งผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะหกล้มร้อยละ 30 และผู้สูงอายุเกิน 80 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงมากถึงร้อยละ 50 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากเลยทีเดียว

          สาเหตุของโรค มีดังนี้ปัจจัยภายใน ปัญหาด้านร่างกาย ความเสื่อมตามธรรมชาตินี้เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งชายและหญิง โดยพบว่า การเดิน การทรงตัวของผู้สูงอายุจะช้าลงเวลาเดินอาจจะเซได้ เพราะกระดูกของผู้สูงอายุเริ่มบาง ข้อเริ่มเสื่อม ขาอ่อนแรง ซึ่งความเสื่อมนี้จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสภาพความแข็งแรงของแต่ละคน ใครที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ดูแลสุขภาพเป็นประจำ ก็จะเสื่อมช้าลงกว่าคนอื่น ปัญหาด้านสายตา ผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม หากได้รับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่แรก ก็สามารถรักษาให้หายหรือประคับประคองไม่ให้สายตาแย่ลงไปกว่านี้ได้ โรคเรื้อรังต่างๆ ถ้ามีอาการเจ็บป่วยควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่าตนเองมีโรคเรื้อรัง หรือโรคแทรกซ้อนหรือไม่อย่างไร  การกินยา หากผู้สูงอายุกินยาเกิน 4 ชนิด ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ยามีปฏิกิริยาต่อกันและมีโอกาสที่จะหกล้มได้ปัจจัยภายนอก  แสงสว่าง หากแสงภายในบ้านสว่างไม่เพียงพอ ก็มีความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะหกล้มได้ ภายในบ้าน ไม่ควรมีพื้นต่างระดับมากเกินไป พื้นควรเรียบเสมอกันตลอดทั้งบ้าน พื้นลื่น เป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุหกล้มได้ การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการหกล้มได้ เช่น การใส่รองเท้าส้นสูง ควรหารองเท้าที่เหมาะสม สวมใส่สบาย และพื้นไม่ลื่น

          ผลกระทบของการหกล้ม เมื่อผู้สูงอายุหกล้มแล้ว จะเกิดผลต่างๆ ดังนี้

@ เกิดการบาดเจ็บ เช่น กระดูกหัก เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง แผลฟกช้ำ เนื้อเยื่อฉีกขาด ส่งผลให้การเคลื่อนไหว รวมทั้งการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำได้น้อยลงหรือไม่เหมือนเดิม

@ ทางจิตใจ ผู้สูงอายุจะเกิดความไม่มั่นใจในการเดิน เกิดภาวะกลัวการเคลื่อนไหว หากเป็นเช่นนี้นานๆ จะส่งผลต่อจิตใจมากขึ้น และส่งผลต่อระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายให้เสื่อมถอยลงไปอีก เช่น การทรงตัวแย่ลง กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น เป็นต้น

@ ทางสังคม ญาติหรือคนดูแลต้องมีเวลาในการดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น ให้ความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงขึ้น

หากหกล้มแล้ว ควรดูแลตนเองอย่างไร  บอกให้แพทย์ประจำตัวทราบ เพื่อจะได้หาสาเหตุว่าการหกล้มนั้นเกิดจากอะไร อย่าปล่อยไว้นานจนไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ถ้าปล่อยให้ตามองไม่ชัดจนกลายเป็นต้อหิน ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือถ้าเป็นปัญหาจากการกินยา ก็ควรได้รับการแก้ไข เพื่อลดการนอนในโรงพยาบาลให้น้อยลง  ให้กำลังใจตัวเอง เพื่อจะได้มีแรงต่อสู้กับโรคร้ายต่อไป   กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ จะช่วยฟื้นฟูร่างกายได้ทางหนึ่ง  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ฝึกการทรงตัว ฝึกการใช้กำลังส่วนต้นขา จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น  หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการล้ม เช่น ไม่เดินไปในที่ที่มีแสงสว่างไม่แพงพอ พื้นลื่น

ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน จัดไฟให้สว่างเพียงพอ และทำพื้นห้องน้ำไม่ให้ลื่น  เลือกสวมใส่รองเท้าที่สบาย ส้นเตี้ย และพื้นไม่ลื่น  หากแพทย์แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ในการช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า วอล์กเกอร์ก็ควรใช้ เพราะจะช่วยป้องกันการหกล้มได้ทางหนึ่ง

          การป้องกัน 1. ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็กดูว่าเรามีความเสี่ยงที่จะหกล้มมากน้อยเพียงใด เช่น สายตาสามารถมองเห็นชัดเจนดีหรือไม่ การทรงตัว การเดินเป็นอย่างไร กระดูกเริ่มบางหรือยัง ปัจจุบันกินยากี่ชนิด เพราะยาบางชนิดมีผลข้างเคียง กินแล้วอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่า ยาที่ได้รับเป็นเหตุทำให้ล้มได้หรือไม่2. กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ผักใบเขียว ปลาต่างๆ นม เต้าหู้ ไข่ ถั่ว งาดำ เป็นต้น 3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อฝึกความแข็งแรงของร่างกาย  4. ทุกครั้งที่ลุกนั่งหรือยืน ควรเปลี่ยนอิริยาบถอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันอาการหน้ามืด และเวียนศีรษะ 5. ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในตอนต่อไป

2 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c dgikorvz1458

ภัยร้ายอันดับ 2 ของหญิงไทย มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านม จากระบบเฝ้าระวังโรคมะเร็งของประเทศไทย พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 6,500 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 2,000 รายต่อปี

เพื่อสนับสนุนให้ ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการควบคุมโรคในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการขยายการให้บริการวัคซีนเอชพีวีในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค พ.ศ.2560 แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ครอบคลุมทั่วประเทศ และ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ให้บริการวัคซีนเอชพีวีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แก่เด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน

          พร้อมทั้งให้ความรู้ว่า โรคมะเร็งปากมดลูกไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ แต่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส human papilloma–virus หรือเชื้อ HPV ชนิดที่ก่อมะเร็งแบบ ฝังแน่น ซึ่งปัจจุบันเราพบว่า มีอย่างน้อยถึง 15 สายพันธุ์ ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก และกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด ในประเทศไทยพบสายพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด เช่นเดียวกับในภาพรวมของโลก คือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่ง 2 สายพันธุ์นี้เกี่ยวเนื่องถึงประมาณร้อยละ 73.8 จากการศึกษาถึง ประโยชน์และความคุ้มค่าของการใช้วัคซีน HPV ซึ่งมีหลายการศึกษาได้ยืนยันแล้วว่าการฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กผู้หญิงในช่วงอายุ 10-12 ปี จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างสูงสุด

          ด้านผู้ทำงาน สุวัฒนา ประสานเนตร อาสาสมัครโรงพยาบาลคอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่รัฐบาลมีนโยบายนี้ หากเป็นเมื่อก่อน การไปฉีดวัคซีนนี้ที่โรงพยาบาลเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งคนที่มีรายได้น้อยก็จะมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนนี้น้อย และในฐานะอาสาสมัครของโรงพยาบาล ตนจะนำความรู้และข่าวสารที่ได้รับไปแจ้งให้กับผู้ปกครองในชุมชนทราบ เพราะโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นภัยที่ร้ายแรงมากสำหรับผู้หญิงทุกคน.

28 กุมภาพันธ์ 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c adfklmopz456

สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค จับมือภาคีเครือข่ายเดินหน้าหยุดบังคับตรวจเอชไอวี ลบหรือบวก ไม่สำคัญ ทำงานได้

          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ เพื่อยุติเอดส์ ซึ่งปีนี้สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค พร้อมภาคีเครือข่ายได้จัดแถลงข่าว “หยุดบังคับตรวจเอชไอวี ลบหรือบวก ไม่สำคัญ ทำงานได้”  ทั้งนี้ จากการสำรวจทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี/เอดส์ ปี 2557 พบว่าร้อยละ 58 มีเจตคติรังเกียจผู้มีเชื้อเอชไอวี  และจากระบบเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี ปี 2559 พบว่า กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง เคยประสบเหตุการณ์การถูกรังเกียจ กีดกันในสถานที่ทำงาน สถานศึกษา ร้อยละ 13 และ 19 ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้จากการร้องเรียนที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคม โดยเฉพาะการบังคับตรวจเลือดก่อนรับเข้าทำงานหรือมีนโยบายตรวจเลือดพนักงาน  ส่วนสถานการณ์การตีตราและเลือกปฏิบัติในระบบบริการสุขภาพ ปี 2560 พบว่า บุคลากรผู้ให้บริการ ร้อยละ 21 ยังคงมีพฤติกรรมการให้บริการที่แสดงการรังเกียจ และเลือกปฏิบัติต่อผู้มีเชื้อเอชไอวี  ในขณะที่ผู้มีเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 11 มีประสบการณ์การถูกรังเกียจ เลือกปฏิบัติในการให้บริการในสถานพยาบาล ปัจจุบันประเทศไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560–2573 คือ“ร่วมยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2573 ที่คำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ”  โดยตั้งเป้าหมายลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกิน 1,000 รายต่อปี ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่เกิน 4,000 รายต่อปี และลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะ โดยร้อยละของประชาชนที่มีเจตคติรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือไม่เกินร้อยละ 5.8

28 กุมภาพันธ์ 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c bfjlptwyz128

สหภาพยุโรป (อียู) ออกระเบียบว่าด้วยอาหารซึ่งครอบคลุมอาหารที่ไม่เคยมีการบริโภคในอียูมาก่อน เป็นโอกาสดีของไทยที่สามารถส่งออกแมลงทอดกรอบหรือแมลงป่นเป็นแป้ง เพื่อใช้ปรุงอาหาร

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่ ซึ่งครอบคลุมอาหารที่ไม่เคยมีการบริโภคในอียูมาก่อน เพื่อให้สามารถรับประทานได้ เช่น แมลงพื้นเมืองที่กินได้ จึงเป็นโอกาสดีของไทยที่สามารถส่งออกแมลงทอดกรอบหรือแมลงป่นเป็นแป้ง เพื่อใช้ปรุงอาหาร ทั้งรูปแบบอาหารเสริม, เครื่องดื่ม และอาหารอื่นๆได้ จากที่ผ่านมา มีการตรวจสอบเข้มงวด เพื่อไม่ให้แมลงเข้าไปในอียู โดยระเบียบใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 61 เป็นต้นไป “เป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรไทย ที่จะสามารถส่งออกแมลงได้มากขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกให้การยอมรับแมลงกินได้ของไทยเกือบ 20 ชนิด เช่น ดักแด้หนอนไหม, หนอนไม้ไผ่, แมงดานา, ตั๊กแตน, แมลงกระชอน, จิ้งโกร่ง และจิ้งหรีด โดยเฉพาะตั๊กแตน ที่สามารถขอเครื่องหมายฮาลาลได้แล้ว”

ทั้งนี้ องค์กรต่างๆ ประเมินว่า แมลงจะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนชนิดใหม่ และหลายๆ ประเทศเริ่มยอมรับการใช้แมลงเป็นอาหารโปรตีนสำรองสำหรับประชากรโลกเพิ่มขึ้น เพราะคาดการณ์ว่าอีก 30 ปีข้างหน้าประชากรโลก 1,000 ล้านคน จะประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ซึ่งแมลงจะเป็นทางเลือกใหม่ เนื่องจากมีราคาถูก และหาง่ายตามท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ซึ่งเร็วๆนี้จะหารือกับอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อจัดทำแผนส่งเสริมการส่งออกแมลงกินได้ไปตลาดต่างๆ ทั่วโลกแบบครบวงจร

28 กุมภาพันธ์ 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.