Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c efinpsw23569

ในความรู้สึกของคนโดยทั่วๆ ไปมักจะให้ความสำคัญของปลารองลงมาจากอาหารพวกเนื้อสัตว์ เนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อไก่ ยกเว้นประเทศที่อยู่แถบนอรเวย์ สกอตแลนด์ และญี่ปุ่น จะให้ความสำคัญของปลามาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงไปคือ เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ

ทั้งนี้ปลานับว่าเป็นอาหารที่มีความเหมาะสมต่อร่างกายของคนเรา เพราะมีโปรตีนและแร่ธาตุในปริมาณสูง เราจึงใช้ปลาเป็นแหล่งอาหารโปรตีน เพราะโปรตีนที่ได้จากปลาจะมีกรดอะมิโนที่จำเป็นครบถ้วน และมีประสิทธิภาพการใช้ของโปรตีนและการใช้ให้เป็นประโยชน์ในร่างกายได้ผลดีรองจากไข่และนม จะเห็นได้ว่า ปลานั้นมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างดียิ่ง พอจะสรุปได้ดังนี้คือ

1. ปลาเป็นแหล่งโปรตีน ที่สำคัญรองลงมาจากเนื้อสัตว์และไข่

2. ปลามีปริมาณไขมันต่ำ (ยกเว้นในปลาที่มีไขมันสูงบางชนิดเท่านั้น) และไขมันในปลาส่วนมาก เป็นไขมันที่ไม่อิ่มตัว ซึ่งสามารถลดโคเลสเตอรอลในเลือดได้ และปริมาณโคเลสเตอรอลในเนื้อปลามีปริมาณต่ำ จึงนิยมนำไปใช้ในการรักษา และป้องกันโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือด

3. ปลาทะเลทุกชนิดมีแร่ธาตุไอโอดีน ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต

4. ปลาเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของวิตามิน เอ ดี และ บี

5. ปลาให้พลังงานน้อยกว่าเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะพวกเนื้อสันใน เนื้อไม่ติดมัน ยกเว้นปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาเฮอริ่ง ปลาสวาย

6. ปลามีแร่ธาตุแคลเซียมต่ำ ยกเว้นในกรณีที่เราสามารถกินได้ทั้งตัว (กระดูกและเนื้อ)

7. ปลามีปริมาณพิวรีน สูงเหมือนในเนื้อต่างๆ ที่มีสีแดง ดังนั้น คนที่เป็นโรคเกาต์ควรหลีกเลี่ยงเช่นเดียวกัน

8. ปลาน้ำจืดเป็นแหล่งสะสมพยาธิ ดังนั้น ถ้าจะกินควรกินสุก ไม่ใช่สุกดิบ ๆ หรือกินปลาดิบ ๆ ทั้งนี้เพราะปลามีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับ เมื่อเรากนปลาที่สุกๆ ดิบๆ เราก็จได้ตัวอ่อนของพยาธิตัวนี้ ซึ่งก่อให้เกิดโรค

13 ก.พ.2561 - ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.

 

newscms thaihealth c ghlmnoswxy18

คนไทยนิยมบริโภคสะเดาเป็นผัก โดยดอกและยอดอ่อนนำมาลวกปิ้งไฟ หรือต้มให้สุก ใช้จิ้มน้ำพริก หรือบริโภคเป็นสะเดาน้ำปลาหวาน สะเดาเป็นพืชที่ทุกส่วนมีคุณสมบัติเป็นยาทั้งสิ้น เป็นตัวยารักษาโรคต่างๆ มากมาย

สรรพคุณทางยา

- ราก แก้ไข้ ทำให้อาเจียน แก้โรคผิวหนัง

- เปลือกต้น รสฝาดสมาน แก้ท้องเดิน แก้บิดมูกเลือด

- ลูกอ่อน แก้ไข้ ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะพิการ

- ใบ แก้ไข้ทุกชนิด บำรุงธาตุ

- ก้านใบ ปรุงเป็นยาต้ม แก้ไข้ทุกชนิด บำรุงน้ำดี แก้พิษร้อนภายใน

- ดอก บำรุงธาตุ ยางดับพิษร้อน

- ผล ใช้ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ลมเจริญอาหาร แก้ปัสสาวะพิการ

13 ก.พ.2561 - ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.

newscms thaihealth c bdjklnuvxyz3

การจมน้ำเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งสูงมากกว่าการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ และสูงมากกว่าอุบัติเหตุจากการจราจรถึง 2 เท่า

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักเกิดจากการเผอเรอชั่วขณะของผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเด็ก เช่น รับโทรศัพท์ เปิด-ปิด ประตูบ้าน ทำกับข้าว ซึ่งบางครั้งไม่คิดว่าแหล่งน้ำในภาชนะในบ้านจะทำให้เด็กจมน้ำได้ เนื่องจากเด็กเล็กมีการทรงตัวไม่ดี จึงทำให้ล้มในท่าศีรษะทิ่มลมได้ จึงมักพบเด็กจมน้ำสูงในแหล่งน้ำภายในบ้าน หรือรอบ ๆ บ้าน เช่น ถังน้ำ กะละมัง แอ่งน้ำ บ่อน้ำ (เด็กสามารถจมน้ำเสียชีวิตได้ในแหล่งน้ำที่มีระดับความสูงเพียง 1-2 นิ้ว

เด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เด็กเริ่มโตและซน จะเริ่มออกไปเล่นนอกบ้าน การจมน้ำสูง มักเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก การที่เด็กว่ายน้ำไม่เป็น และการช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธี โดยส่วนใหญ่จะเห็นว่าเด็กวัยนี้จะเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลาย ๆ คน เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก พอเห็นเพื่อนหรือน้องตกน้ำ คิดว่าตัวเองว่ายน้ำเป็นจึงกระโดดลงไปช่วย แต่สุดท้ายจะกอดคอกันเสียชีวิต แหล่งน้ำที่พบเด็กจมน้ำคือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น บ่อขุดเพื่อการเกษตร คลอง แม่น้ำ บึงนน

การป้องกัน

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

  • ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กทุกคนควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ควรเผอเรอแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว โดยเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็น คว้าถึงและเข้าถึง
  • ไม่ปล่อยทิ้งให้เด็กเล่นน้ำเองตามลำพังแม้ในกะละมัง ถังน้ำ โอ่ง
  • มีการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น เทน้ำทิ้งภายหลังใช้งาน หาฝาปิด รวมถึงการจัดพื้นที่เล่นปลอดภัยให้เด็ก
  • สอนให้เด็กเล็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงภัยในบ้าน เช่น กะละมัง ถังน้ำ และวิธีการหลีกเลี่ยง โดยเน้น “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” คือ สอนให้เด็กอย่าเข้าไปใกล้แหล่งน้ำ อย่าเก็บสิ่งของหรือของเล่นที่อยู่ในน้ำ และอย่าก้มไปดูน้ำในแหล่งน้ำ

เด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

  • ไม่ปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง ต้องมีผู้ใหญ่ไปด้วย
  • สอนให้เรียนรู้กฎแห่งความปลอดภัยทางน้ำ เช่น ไม่เล่นใกล้แหล่งน้ำ ไม่เล่นคนเดียว ไม่ลงไปเก็บดอกบัว/กระทงในแหล่งน้ำ ไม่เล่นน้ำตอนกลางคืน รู้จักแหล่งน้ำเสี่ยง รู้จักใช้ชูชีพหรืออุปกรณ์ลอยน้ำได้เมื่อต้องโดยสารเรือ
  • ควรสอนให้เด็กรู้จักการเอาชีวิตรอดในน้ำ เพราะหากเด็กไม่รู้จักวิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำ เมื่อตกน้ำหรือจมน้ำในจุดที่ห่างไกลจากฝั่งมาก ๆ เด็กจะพยายามว่ายน้ำเข้าหาฝั่งจนหมดแรงก่อนที่จะว่ายน้ำถึงฝั่ง แต่การเอาชีวิตรอดที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคือ การลอยตัวอยู่ในน้ำให้ได้นานที่สุดเพื่อรอการช่วยเหลือ
  • สอนให้เด็กรู้จักวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง คือ “ตะโกน โยน ยื่น” โดยเมื่อพบคนตกน้ำต้องไม่กระโดดลงไปช่วย แต่ควรตะโกนขอความช่วยเหลือ โทรแจ้ง 1669 และหาอุปกรณ์โยนหรือยื่นให้คนตกน้ำจับเพื่อช่วย เช่น ไม้ เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า
  • จัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่เด็ก เช่น สร้างรั้ว หาฝาปิด/ฝังกลบหลุมบ่อที่ไม่ได้ใช้ ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำที่หาได้ง่ายบริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง (ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้ เชือก)
  • มีมาตรการทางด้านกฎหมาย/กฎระเบียบ/ข้อบังคับ เช่น ต้องใส่เสื้อชูชีพเมื่อโดยสารเรือ ห้ามดื่มสุราก่อนลงเล่นน้ำ กำหนดให้มีบริเวณเล่นน้ำ/ดำน้ำที่ปลอดภัย และแยกออกจากบริเวณสัญจรทางน้ำ กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ (lifeguard) ดูแลแหล่งน้ำ

การช่วยเหลือ

หลังจากช่วยคนที่ตกน้ำ จมน้ำขึ้นมาแล้ว ห้ามจับอุ้มพาดบ่า กระโดดหรือวิ่งรอบสนาม หรือวางบนกระทะคว่ำแล้วรีดน้ำออก เพราะจะทำให้ขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น กรณีเด็กไม่หายใจ ให้ช่วยด้วยการเป่าปากและนวดหัวใจและควรนำส่งโรงพยาบาลทุกราย

12 ก.พ.2561 - ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.

newscms thaihealth c imnquvxz1679

โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Avian Influenza virus type A ลักษณะของเชื้อไวรัสในกลุ่มนี้ถูกทำลายได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป เช่น แอลกอฮอล์ คลอโรฟอร์ม และไข้หวัดนกที่ติดมาสู่คนมักจะเป็นไวรัสชนิด H5N1

เชื้อโรคหวัดนกจะมีระยะฟักตัวในสัตว์อาจจะสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือยาวถึง 3 วัน อาการที่แสดงนั้นมีความผันแปรตั้งแต่ระดับไม่รุนแรง ไปจนถึงขั้นเสียชีวิตขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไวรัส และสัตว์ที่ได้รับเชื้อ สัตว์อาจจะไม่แสดงอาการป่วย แต่จะมีระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้นภายใน 10 – 16 วัน จึงสามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรค สัตว์อาจจะแสดงอาการดังนี้ ไก่จะซูบผอม ซึมมาก ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ไข่ลด ไอ จาม หายใจลำบาก น้ำตาไหลมาก หน้าบวม หงอนและเหนียงบวม มีสีคล้ำ ตาปิดเนื่องจากหนังตาบวม อาจมีอาการของระบบประสาท และท้องเสีย ส่วนที่รุนแรงจะตายกะทันหันโดยไม่แสดงอาการ ซึ่งมีอัตราตายสูง 100% ไวรัสชนิดนี้อาจทำให้สัตว์ปีกชนิดอื่น ๆ ป่วยด้วย เช่น เป็ด นกกระทา ไก่งวง เป็นต้น

การติดต่อของโรค

คนสามารถติดเชื้อจากสัตว์ได้ โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีที่ป่วยหรือตายด้วยโรคไข้หวัดนก หรือจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อไข้หวัดนกทางอ้อมคือ การสัมผัสกับดิน น้ำ อาหาร เสื้อผ้า รองเท้า พาหนะ และอื่น ๆ ที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของสัตว์ป่วย โดยเชื้ออาจติดมากับมือ และเข้าสู่รางกายทางเยื่อบุจมูก ตา และปาก ขณะนี้ยังไม่พบการติดเชื้อจากการบริโภคสัตว์ปีกที่ปรุงสุก

การรักษา

หากผู้ป่วยมีอาการคล้ายไว้หวัดใหญ่ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีโรคไข้หวัดนกระบาดอยู่ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที เพราะต้องได้รับยาต้านไวรัสโดยเร็ว หลังจากเริ่มมีไข้ รวมทั้งต้องได้รับยารักษาตามอาการ ภายใต้การรักษาดูแลใกล้ชิดจากแพทย์เท่านั้น

12 ก.พ.2561 - ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.

newscms thaihealth c bdghmnpuxz24

เด็กโรคสมาธิสั้น จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากครอบครัวอย่างเข้าใจ

ลด สิ่งเร้า

• จัดสถานที่สำหรับทำการบ้าน อ่านหนังสือ โดยไม่มีสิ่งรบกวน เช่น ทีวี วิดีโอเกม หรือของเล่นอยู่ใกล้ๆ

• ฝึกให้เด็กทำกิจกรรมในที่เงียบๆ หรืออยู่ในสถานที่สงบ  ลดการไปเที่ยวห้างหรือสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน

• จำกัดการดูทีวี หรือเล่นคอมพิวเตอร์

เพิ่ม สมาธิและการควบคุมตนเอง

• กำหนดช่วงเวลาในแต่ละวันที่จะฝึกให้เด็กทำอะไรเงียบๆ ที่ตัวเองชอบอย่าง “จดจ่อและมีสมาธิ” พร้อมให้คำชมและรางวัลเมื่อเด็กทำได้สำเร็จ

• เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กในเรื่องความมีระเบียบ รู้จักรอคอย รู้จักกาลเทศะ สุภาพ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และควบคุมอารมณ์ เป็นต้น

• จัดทำตารางกิจกรรมในแต่ละวันให้กับเด็ก ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เพื่อฝึกระเบียบวินัย

• ควรมีการตั้งกฎเกณฑ์ การลงโทษเมื่อเด็กทำผิดไว้ล่วงหน้า และต้องทำตามกฎเกณฑ์นั้นๆ อย่างจริงจัง เพื่อการปรับพฤติกรรมที่คงเส้นคงวา

• หากจะเปลี่ยนกิจกรรมที่เด็กกำลังทำอย่างสนุกสนานให้มาทำกิจกรรมที่เด็กไม่ชอบ ควรบอกเด็กล่วงหน้าอย่างน้อย 5 นาที เพื่อให้เด็กพยายามควบคุมตนเอง

• การลงโทษ ควรใช้วิธีจำกัดสิทธิต่างๆ เช่น งดดูทีวี งดเที่ยวนอกบ้าน งดขี่จักรยาน หักค่าขนม เป็นต้น หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง เพราะอาจทำให้เด็กก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

• สนใจในพฤติกรรม “ถูก” มากกว่า ตำหนิ ในพฤติกรรม “ผิด” และควรให้คำชมหรือรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เวลาที่เด็กทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็กทำพฤติกรรมที่ดีต่อไป

9 ก.พ.2561 -  ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.